วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

3. เจโตปริยญาณ

อภิญญาที่ 3 เจโตปริยญาณ (ญาณที่ให้กำหนดใจคนอื่นได้)

จาก : หนังสืออภิญญา โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

อภิญญาที่ ๓ เจโตปริยญาณ ญาณนี้รู้ใจคนและสัตว์ รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ในขณะนี้หรือก่อน หรือในวันต่อไป
เจโตปริยญาณ ก็ดี จุตูปปาตญาณ ก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ล้วนเป็นกิ่งก้านของทิพจักขุญาณ เมื่อท่านเจริญทิพจักขุญาณ คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์ได้แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้เจโตและจุตูปปาตญานเอง ทำทิพจักขุญาณนั้นเป็นญาณที่สร้างให้ได้ก่อนญาณอื่น เพราะเจริญกรรมฐานให้ได้เพียงอุปจารฌาน คือ เจริญอาโลกกสิณ โอทาตกสิณ หรือ เตโชกสิณ ใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้อุปจารฌาน แล้วกำหนดจิตว่าต้องการเห็นนรก ก็ถอนจิตจากนิมิตกสิณนั้นเสีย แล้วกำหนดใจดูนรก ภาพนรกก็จะปรากฏ เมื่อประสงค์จะเห็นสวรรค์และอย่างอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกันการเห็นนั้นจะมัวหรือชัดเจนขึ้นอยู่กับนิมิต

กสิน 10 http://www.palungjit.com/smati/k40/kasin10.htm


เมื่อเพ่งนิมิตคือ รูปกสิณ ถ้าเห็นรูปกสิณชัดเท่าใด ภาพนรกสวรรค์หรืออย่างอื่นที่เราปรารถนาจะรู้ก็ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้น เมื่อท่านเจริญกสิณกองใดกองหนึ่งใน ๓ กองนี้จนได้อุปจารฌานแล้ว ฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ให้พยายามทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ โดยลำดับ ท่านจะได้ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น และสามารถเจรจากับพวกพรหมเทวดา และภูตผีปีศาจได้เท่า ๆ กับมนุษย์ เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว ก็จะรู้วาระจิตของคนอื่น ว่าคนนี้มีกิเลสอะไรเป็นตัวนำ ขณะนี้เขากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เรียกว่า


"เจโตปริยญาณ" และรู้ต่อไปว่าสัตว์ตัวนี้หรือคน ๆ นี้ ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์หรือคนที่เกิดใหม่นั้นมาจากไหน อย่างนี้เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" และรู้ต่อไปว่าสัตว์หรือคนที่มาเกิดนี้เพราะกรรมอะไรที่เป็นบุญหรือเป็นบาปบันดาลให้มาเกิด เขาตายไปแล้วไปตกนรกเพราะกรรมอะไร ไปเกิดบนสวรรค์เพราะกรรมอะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า "ยถากัมมุตาญาณ" สามารถรู้เรื่องในอดีตคือที่ล่วงมาแล้วมาก ๆ เรียกว่า "อตีตังสญาณ" รู้เรื่องในอนาคตได้มาก ๆ เรียกว่า "อนาคตังสญาณ" และเมื่อปรารถนาจะรู้เรื่องถอยหลังไปถึงชาติก่อน ๆ นี้ก็รู้ได้ เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" รวมความแล้วเมื่อเจริญกรรมฐานในกสิณ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จนถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ญาณรวมกันทั้งหมด ๗ อย่าง เป็นกรรมฐานที่ได้กำไรมาก

*************

...สำหรับเจโตปริยญาณ ผมอยากให้ท่านคล่องตรงนี้ เจโตปริยญาณ นี่ท่านบอกว่าสามารถรู้วาระน้ำจิตของคนอื่นหรือว่าวาระน้ำจิตของเรา เนื้อแท้จริง ๆ เราต้องการรู้วาระจิตของเราเป็นสำคัญ
คือ อารมณ์จิต ดูใจของเราว่าสภาพใจของเราผ่องใสหรือไม่ผ่องใส สีของจิตมี ๖ อย่าง แต่เอาอย่างโดยย่อมี ๓ อย่างพอ นี่เป็นแนวปฏิบัติ เรื่องจิตของเรานี้จะต้องฝึกดูทุกวัน ถ้าฝึกดูจิตของเราทุกวัน ตื่นขึ้นมาเช้ามืดทำใจให้สบายแล้วก็ดูใจของตน และเมื่อเวลาดูใจน่ะต้องพยายาม ถ้าใจมีสีแดงแสดงว่าเรามีความดีใจในด้านวัตถุหรือว่าอารมณ์ที่เป็นโลกียวิสัย ถ้าใจมีสีมัวหรือสีดำหมายถึงว่าความวุ่นวายของจิต ถ้าใจเป็นสีแก้วหมายความว่าจิตโปร่งจากกิเลส การดูจิตนี่มีความสำคัญมาก ดูของเราอย่าไปดูของเขา เรื่องดูของเขามันดูง่านย ดูของเรามันดูยาก พยายามซักซ้อมการดูจิตให้คล่อง แล้วพยายามไล่สีให้หมด

ถ้าจิตมันมีสีแดงก็นึกว่าเรามีความดีใจเพราะเหตุอะไรเป็นสำคัญ พอรู้เหตก็ขับไล่เหตุนั้นไป ถือว่าไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ถ้าจิตมันมีสีมัวมานึกถึงว่าอารมณ์เรามัวเพราะอะไร พอรู้แล้วก็ขับมันไป ถือว่าทุกอย่างในโลกมันเป็นของธรรมดา ทำไมจะต้องมาดีใจ ทำไมจะต้องมาเสียใจกับเรื่องของโลกียวิสัย
สิ่งใดที่มันกระทบกระทั่งใจมันก็ผ่านไปแล้ว นั่นมันเป็นอดีต และก็สิ่งที่ยังไม่ถึงมันเป็นอนาคต ปัจจุบันนี่เราต้องมีอารมณ์แจ่มใสอยู่เสมอ อารมณ์จะต้องทรงตัว จิตจะต้องเป็นแก้วอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราเป็นแก้วธรรมดา แสดงว่าจิตของเราอยู่ในขั้นของ " ฌานโลกีย์ " อันนี้มันเร็วนี่ครับ วิธีนี้การปฏิบัติเร็วมาก การเข้าเป็นพระอริยเจ้าก็เร็ว แต่ว่ายังสู้มโนมยิทธิเขาไม่ได้นะ ไกลกันมากความว่องไวไกลมากต้องใช้เหนื่อยมาก ทีหลังเราก็ต้องการที่จะทำจิตของเราให้เข้าถึง " โลกุตตรฌาน " คือ เป็นพระอริยเจ้า การศึกษาตอนนี้ก็ศึกษากับพระนั่นเองแหละ ไม่ต้องนั่งอ่านตำราให้มันลำบาก วันทั้งวันจิตใจจับพระไว้เป็นปกติ แล้วศึกษกับท่านว่าทำยังไงเราจึงจะเป็นพระโสดาบัน ภาพพระนิมิตเขาบอกเอง แล้วจะทำยังไงจะเป็นสกิทาคามี อนาคามี อรหันต์

อันดับแรก ถ้ากำลังจิตของเรายังอ่อน จับอารมณ์พระโสดาบันก่อน ถามท่าน หรือว่า เรารู้แบบฉบับแล้วก็ศึกษากับท่านโดยจุดที่ว่ายังอ่อน ว่าเวลานี้จิตของเราอ่อนจุดไหน ท่านจะแก้ไขจุดไหน พระจะบอกเองว่าจะแก้จุดนั้นจุดนี้ แล้วเราก็แก้ ๆ ด้วยความตั้งใจจริง ถ้าควบคุมจิตอยู่อย่างนี้ ๒ - ๓ วันเท่านั้นแหละ อารมณ์จิตจะเป็นประกายแพรวพราวออกมา ถ้าเป็นพระโสดาบันก็จะเป็นประกายโดยรอบประมาณสัก ๑ ใน ๔ ถ้าจิตเราเริ่มเป็นวิปัสสนาญาณเข้าใจ ใจเริ่มเป็นวิปัสสนาญาณ จิตโดยรอบจะเป็นประกายเล็กน้อย คือ วงรอบ ๆ ของจิต ต่อไปเราก็ศึกษาข้ามขั้นไปเลย อย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องการพระอนาคามี พระอนาคามีนี่เราก็รู้แล้วว่าต้องตัดกามฉันทะกับปฏิฆะ เราก็ถามว่าการตัดกามฉันทะกับปฏิฆะอย่างไหนที่เราจะต้องตัดก่อน เพราะเรารู้ไม่ได้ว่าจิตของเราอ่อนตรงไหน ท่านก็จะบอกจุด ดีไม่ดีท่านก็บอกจุดตัดปฏิฆะเลย คือ ความโกรธความพยาบาท และถ้าใจเรายังคล่องทั้ง ๒ อย่าง ท่านก็จะแนะจุดการตัดทั้ง ๒ อย่าง แล้วก็ปฏิบัติตามท่าน โดยการควบคุมอารมณ์จิตของเราไว้เป็นปกติ จิตมันจะใสขึ้นมาเป็นประกายแพรวพราว จนกระทั่งรู้สึกว่ามีแกนสีแดงหรือว่ามีแกนสีขาวนิดหน่อย ตอนนี้อารมณ์ในกามฉันทะความต้องการในเพศ หรือ ปฏิฆะความกระทบกระทั่งในจิตจะไม่มี ถ้าตอนถึงอนาคามีนี่ต้องลองนะ ลองดู ..
สิ่งไหนที่เราเห็นว่าสวย เราเคยเห็นว่าสวยเราไปทดสอบอาการอย่างนั้นให้ไปพบจุดนั้น ๆ เมื่อเห็นเข้าแล้วเห็นมันเกิดความสะอิดสะเอียนในร่างกายของคนและวัตถุนั้น ๆ ว่าเนื้อแท้จริง ๆ มันไม่มีอะไรสวย มันเป็นของน่าเกลียดโสโครกจนอารมณ์ชิน แล้วก็ดูใจของเราทุกวัน วันทั้งวันน่ะดูมันเรื่อยไป ใจมันจะไม่เปลี่ยนแปลง มันจะไม่เศร้าหมองลงไป ใจจะใสสะอาดเป็นประกายเล็กน้อย อย่างนี้ชื่อว่าทรงความเป็น " อนาคามี "
ทีนี้ถ้าเราจะปฏิบัติในขั้นอรหัตผล อรหัตผลนี่มีสังโยชน์อยู่ ๕ คือ :-
๑. รูปราคะ ติดในรูปฌาน
๒. อรูปราคะติดในอรูปฌาน
๓. มานะ ติดในความถือตัวถือตน
๔. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้ง
๕. อวิชชา ติด" ฉันทะ " กับ " ราคะ " คือ พอใจโลกนี้ เทวโลก และ พรหมโลก

แล้วก็ถามพระว่าจะตัดจุดไหนมันถึงจะเร็ว ท่านก็จะบอก บอกแล้วก็ตัดจุดนั้น ถ้าเราตั้งใจจริงนี่สภาพแบบนี้สามารถตัดอารมณ์ที่ท่านบอกได้ภายใน ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน นี่นะครับ การฝึกทิพจักขุญาณมีประโยชน์อย่างนี้ นี่รู้จิตของเราไม่ต้องการไปรู้จิตของคนอื่น เรื่องจิตของคนอื่นอย่าไปยุ่ง เขาจะดีจะเลวมันเป็นเรื่องของเขา เรื่องตัวของเราสำคัญ เมื่อเราสามารถชำระจิตของเราได้จับจิตของเราได้แล้ว เรื่องจิตของคนอื่นมันง่ายกว่าจิตของเรา เพียงเขาบอกชื่อคนนั้นคนนี้มา ถ้าเราต้องการรู้คนนี้อยู่ระดับไหนจะเห็นจิตทันที ขุ่นหรือใส เป็นประกายหรือเปล่า จะรู้สภาวะการณ์ปรากฏของเขาว่า เวลานี้เขาทรงธรรมอยู่ในขั้นไหน หรือว่ากำลังใจของเขาเป็นสัตว์นรกนี่เรารู้ได้

**********************
**********************

จาก : หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6)

ให้ฝึกจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้ชัดในลักษณะจิต 16 อย่างของตนเอง จะทำให้เกิดญาณรู้จิตของคนอื่นได้
การพิจารณาจิต 16 อย่าง
1) จิตมีราคะ 2) จิตไม่มีราคะ

3) จิตมีโทสะ 4) จิตไม่มีโทสะ
5) จิตมีโมหะ 6) จิตไม่มีโมหะ
7) จิตหดหู่ 8) จิตฟุ้งซ่าน
9) จิตใหญ่ (จิตในฌาน) 10) จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน)
11) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า 12) จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
13) จิตตั้งมั่น 14) จิตไม่ตั้งมั่น
15) จิตหลุดพ้น 16) จิตไม่หลุดพ้น

***********
อำนาจทิพย์ทั้งปวงที่ผ่านมายังรวมไปถึงการกำหนดรู้จิตใจผู้อื่นที่เรียกว่า ‘เจโตปริยญาณ’ อีกด้วย การกำหนดรู้หรือดักใจผู้อื่นจะมีได้มากน้อยขึ้นอยู่กับอำนาจแห่งสมาธิของแต่ละบุคคลตามภาวะนั้น ๆ
โดยปกติลักษณะทั่วไปของเจโตปริยญาณมักจะบังเกิดได้ทางกระแสสัมผัสทางเดียว แต่สำหรับผู้ทรงภูมิธรรมชั้นสูง ๆ อาจรู้ได้ด้วยประการต่าง ๆ หลายประการด้วยกัน ดังตัวอย่างที่พระอริยคุณาธาร (เส็ง) ปุสโส กล่าวอ้างไว้ใน ‘ทิพยอำนาจ’ โดยบันทึกไว้ว่า... “พระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) อาจารย์ของข้าพเจ้าได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ญาณความรู้ที่เกิดขึ้นในการกำหนดรู้เหตุการณ์ อุปนิสัยใจคอของผู้อื่นนั้นมีสามอย่างคือ


1. เอกวิธัญญา รู้โดยส่วนเดียว หมายความว่า รู้สึกขึ้นในทางใจที่เดียว เช่น รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ ในวันนั้นหรือวันไหนในอดีต หรืออนาคตได้ ส่วนอุปนิสัยของคนก็รู้ได้ในใจว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ประการเดียว โดยไม่อาศัยนิมิตอื่นใด
2. ทุวิธัญญา รู้โดยส่วนสอง คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นมาก่อน จึงรู้ความหมายตามนิมิต
3. ติวิธัญญา รู้โดยส่วนสาม คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นก่อน แล้วต้องกำหนดตามในใจเสียก่อน เข้าสู่ความสงบจนถึงฐิติจิต ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ จึงสามารถรู้เรื่องตามนิมิตที่ปรากฏนั้น”
(ความรู้อันเป็นลักษณะ ‘ทิพย์’ ที่กล่าวมา เป็นการรับรู้ด้วยญาณหลาย ๆ อย่าง มีทั้งเจโตปริยญาณ ทั้งทิพยจักษุญาณ และยังมีญาณแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ อีกหลายประการ อย่างเช่น อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ เป็นญาณรู้ อดีต...อนาคต ฯลฯ)


รวมความแล้วการฝึกอบรมใจให้สงบบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ญาณหยั่งรู้และภาวะแห่งทิพย์จะบังเกิดขึ้นมากมายตามกำลังแห่งวาสนาบารมี โบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า... จิตใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์ สมมติลักษณะได้ว่าเป็น ‘ใจแก้ว’ เพราะมีลักษณะใสดั่งแก้วมณีโชติ ถ้าฝึกฝนได้ถึงขั้นใจแก้วแล้ว ภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมา หรือกำลังจะเกิดย่อมแสดงเงาขึ้นที่ใจแก้ว เหมือนเงาปรากฏขึ้นที่กระจกอย่างไรอย่างนั้น...
ใจแก้วจึงเป็นจุดศูนย์รวมของญาณหยั่งรู้ทุกประการ!
ผู้ปรารถนาภาวะทิพย์ ปรารถนาญาณหยั่งรู้พิเศษต่าง ๆ พึงฝึกฝน ‘ใจ’ อันเป็นธาตุรู้...ธาตุพิเศษของตนให้บริสุทธิ์เหมือนแก้วมณีโชติ ...ทุกประการจะสำเร็จดังมโนรถทุกประการ...
วิธีปลูกสร้างเจโตปริยญาณ ไม่มีอะไรดีวิเศษไปกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าจบเรื่องที่กล่าวในบทนี้แล้ว ผู้ศึกษาที่ต้องการเจโตปริยญาณพึงฝึกหัดตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเถิด จะสมหวังโดยไม่ยากเย็นเลย

ไม่มีความคิดเห็น: