วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

กรรม ๑๒ ประเภท

กรรม ๑๒ ประเภท

(จาก : หนังสือวิสุทธิมรรค แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชาวอินเดีย แบ่งกรรมไว้ ๑๒ ประเภท)

กรรมให้ผลตามกาลเวลา
๑. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือ ให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไป

กรรมให้ผลตามหน้าที่
๕. ชนกกรรม กรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว
๖. อุปตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือชนกกรรมแต่งดีส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมแต่ง
ให้ชั่วก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวาง กรรมเดินคอยเบียนชนกกรรม เช่นเดิมแต่งมาดีเบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่วเบียนให้ดี
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรม แต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย หรือเดิม ชนกกรรมแต่งไว้เลวมากกลับทีเดียวเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐี

กรรมให้ผลตามความหนักเบา
๙. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาณ กรรมฝ่ายชั่ว เช่น ทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้
๑๐. พหุลกรรม/ อาจิณณกรรม กรรมที่ทำจนชิน
๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรมย่อมส่งผลให้ไปสู๋ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์อาจจะทำด้วยความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกันในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว

*********


กรรม ๑๒ ประเภท
(จาก มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ภาค ๒ หน้า ๑๓๑,
วิสุทธิมรรคปัญญานิทเทส หน้า ๒๒๓ วศ. และทิพยอำนาจ โดยพระอริยคุณาธาร [เส็ง ปุสฺโส])


กรรมจัดตามหน้าที่ มี ๔

๑. ชนกกรรม - กรรมที่ก่อให้เกิด หรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่างๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนกกรรมนี้เป็นผลของอาจิณกรรม บ้างของอาสันนกรรมบ้าง

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่สามารถแต่งกำเนิดของสัตว์ในไตรโลก มี ๔ คือ:-
(๑) ชลาพุชะ เกิดจากน้ำสัมภวะของมารดาบิดาผสมกันเกิดเป็นสัตว์ในครรภ์ แล้วคลอดออกมาเป็นเด็ก แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับกาล ฝ่ายดีได้แก่กำเนิดมนุษย์ ฝ่ายไม่ดีได้แก่กำเนิดดิรัจฉานบางจำพวก
(๒) อัณฑชะ เกิดเป็นฟองไข่ก่อน แล้วจึงเกิดเป็นตัว ออกจากกะเปาะฟองไข่ แล้วเจริญเติบโตโดยลำดับกาล ฝ่ายดีได้แก่กำเนิดดิรัจฉานมีฤทธิ์ เช่น นาค ครุฑ ประเภทอัณฑชะฝ่ายชั่วได้แก่กำเนิดดิรัจฉาน เช่น นกสามัญทั่วไป ฯลฯ
(๓) สังเสทชะ เกิดจากสิ่งโสโครกเหงื่อไคล ฝ่ายดีเช่น นาค และครุฑ ประเภทสังเสทชะฝ่ายชั่ว เช่น กิมิชาติ มีหนอน ที่เกิดจากน้ำครำ เป็นต้น และเรือด ไร หมัด เล็น ที่เกิดจากเหงื่อไคลหมักหมม เป็นต้น
(๔) อุปปาติกะ เกิดผุดขึ้นเป็นวิญญูชนทีเดียว ฝ่ายดีเช่น เทพเจ้า ฝ่ายชั่วเช่น สัตว์นรก เปรต อสุรกาย กรรมดีแต่งกำเนิดดี กรรมชั่วแต่งกำเนิดชั่ว นี้เป็นกฎแห่งกรรมที่ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป

๒. อุปถัมภกกรรม - กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่คอยสนับสนุนกรรมอื่น ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกัน กรรมดีสนับสนุนกรรมดี กรรมชั่วสนับสนุนกรรมชั่ว เช่น กรรมดีแต่งกำเนิดดีแล้ว กรรมดีอื่นๆ ก็ตามมาอุดหนุนส่งเสริมให้ได้รับความสุขความเจริญยิ่งขึ้น กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมชั่วอื่นๆ ก็ตามมาอุดหนุนส่งเสริมให้ได้รับทุกข์เดือดร้อนในกำเนิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น หาตัวอย่างที่เป็นจริงมาแสดงไม่ได้

๓. อุปปีฬกกรรม - กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพลาลง

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรรมอื่นที่ต่างฝ่ายกับตน คอยเบียดเบียนทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีกำลังอ่อนลง ให้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นกรรมดีแต่งกำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว กรรมชั่วเข้ามาขัดขวางรอนอำนาจของกรรมดีนั้นลง ทำให้เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ หรือขาดความสุขในความเป็นมนุษย์ ที่ควรจะได้ไป ในฝ่ายชั่วก็นัยเดียวกัน เช่น กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมดีเข้ามาขัด ถึงเป็นสัตว์ ก็มีผู้เมตตากรุณาเลี้ยงดูมิให้ได้ความลำบาก เป็นต้น.

๔. อุปฆาตกรรม หรือ อุปัจเฉทกกรรม - กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรรมอื่น ที่ต่างฝ่ายกับตน เช่นข้อก่อน (อุปปีฬกกรรม) แต่มีกำลังแรงกว่า สามารถเข้ากำจัดกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ให้ขาดสะบั้นลง มิให้อำนวยผลสืบไปแล้วตนเข้าแทนที่ให้ผลเสียเอง ตัวอย่างในฝ่ายอกุศล เช่น กรรมดีแต่งกำเนิดในมนุษย์มาแล้ว กรรมฝ่ายชั่วที่มีกำลังเข้าสังหาร เช่นไปทำกรรมร้ายแรงในปัจจุบัน หรือกรรมชั่วร้ายแรงในอดีตตามมาทันเข้าให้ผลแทนที่ คนนั้นเสียความเป็นมนุษย์ไปในทันทีทันใด กลายร่างไปเป็นยักษ์หรือดิรัจฉานไปเลย หรือเพศเปลี่ยนไป เช่น เดิมเป็นบุรุษเพศ กลายเป็นสตรีเพศไป ดังโสเรยเศรษฐีบุตร ฉะนั้น ในฝ่ายกุศล กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมดีเข้าสังหาร กำลังของกรรมทรามนั้นให้สิ้นกระแสลงแล้วเข้าแทนที่ ให้ผลเสียเอง เช่น เปรตได้รับส่วนบุญ แล้วพ้นภาวะเปรต กลายเป็นเทวดาทันทีทันใด เป็นต้น.


กรรมจัดตามแรงหนักเบา มี ๔

๕. ครุกรรม - กรรมหนัก ฝ่ายดีหมายถึงฌาน วิปัสสนา มรรคผล ฝ่ายชั่วหมายถึงอนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่ามารดา, ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อโลหิต, ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่หนักมาก สามารถให้ผลทันทีทันใด ฝ่ายกุศล ได้แก่ ฌานสมาบัติที่ท่านเรียกว่า อนันตริกกรรม ฝ่ายอกุศล ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ มีม่ามารดาบิดา เป็นต้น บุคคลจะทำกรรมชั่วมามากมายสักเพียงไรก็ตาม ถ้ารู้สึกสำนึกตัวแล้ว กลับตัวทำความดี มีความสามารถทำใจให้สงบ เป็นสมาธิ และเป็นฌานสมาบัติได้แล้ว กรรมนี้จะแสดงผลเรื่อยๆ ไป ตั้งแต่บัดนั้นจนกว่าจะสิ้นกระแสลง กรรมอื่นๆ จึงจะได้ช่องให้ผล บุคคลทำกรรมดีไว้มากมายแล้ว สมควรจะได้มรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งในชาติปัจจุบัน แต่ไปเสวนะกับคนพาลเกิดประมาท ทำความชั่วร้ายแรงขึ้น เช่น ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่ามารดาบิดา เป็นต้น กรรมนี้จะเข้าให้ผลทันทีทันใด อุปนิสัยแห่งมรรคผลก็เป็นอันพับไป ต้องเสวยผลกรรมชั่วนั้นไปจนกว่าจะสิ้นกำลัง กรรมอื่นๆ จึงจะมีช่องให้ผลสืบไป

๖. อาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม - กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือ ทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่ทำมากจนชิน เป็นอาจิณ เป็นกรรมหนักรองครุกรรมลงมา สามารถให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ในเมื่อไม่มีครุกรรม เช่น บุคคลบำเพ็ญทาน หรือรักษาศีล หรือ เจริญภาวนา มีเมตตาภาวนา เป็นต้น เป็นอาจิณ แต่ไม่ถึงกับได้ฌานสมาบัติ กรรมดีนี้จะเป็นปัจจัยมีกำลังในจิตอยู่เสมอ สามารถให้ผลสืบเนื่องไปนาน ถ้าบุคคลผู้นั้นไม่ประมาทในชาติต่อๆ ไป ทำเพิ่มเติมเป็นอาจิณอยู่เรื่อยๆ กรรมดีก็จะให้ผลทวีและสืบเนื่องเรื่อยๆ ตัดโอกาสของกรรมอื่นๆ เสียได้ ในฝ่ายอกุศลก็นัยเดียวกัน เช่น พรานเนื้อ หรือชาวประมงทำปาณาติบาตเป็นนิตย์ ถึงแม้ไม่หนักหนาเท่าครุกรรม แต่เพราะเป็นกรรมติดเนื่องกับสันดานมาก จึงสามารถอำนวยผลได้ ท่านยกตัวอย่าง เช่น คนฆ่าโคขายเนื้อทุกวัน เวลาจะตายร้องอย่างโค พอสิ้นใจก็ไปนรกทันที คนฆ่าสุกรขายเป็นอาชีพ เวลาจะตายร้องอย่างสุกร พอขาดใจก็ไปนรกเช่นเดียวกัน

๗. อาสันนกรรม - กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอานุภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรืออทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนั้นเป็นอารมณ์เมื่อจวนตาย

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่ทำเวลาใกล้ตาย แม้จะมีกำลังเพลาก็ได้ช่องให้ผลก่อนกรรมอื่น ในเมื่อไม่มีครุกรรม และ พหุลกรรม ตัวอย่างในฝ่ายดี เช่น พวกสำเภาแตก ได้สมาทานศีลก่อนหน้ามรณะเพียงเล็กน้อย ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ มีนามว่า สตุลลปายิกาเทวา ในฝ่ายอกุศล เช่น ภิกษุรูปหนึ่งในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องอาบัติเพราะพรากภูตคาม คือทำใบตะไคร่น้ำขาด ประมาทว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย ไม่แสดงทันที ต่อมาไม่นาน เกิดอาพาธ พอใกล้มรณะก็นึกขึ้นได้ว่า ตนมีอาบัติติดตัวจะแสดงก็หาภิกษุรับแสดงไม่ได้ เสียใจตายไป ได้ไปเกิด ในกำเนิดนาค มาในพุทธกาลนี้ได้ฟังพระธรรมเทศนา และตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถ้ามิใช่เพราะอยู่ในกำเนิดดิรัจฉานแล้วจะบรรลุภูมิพระโสดาบัน ในครั้งฟังพระธรรมเทศนานั้นทีเดียว เพราะมีกุศลได้สั่งสมมามากพอสมควร
ในคราวประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกเรื่อง พระนางมัลลิกาเทวี
มเหสีของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล เป็นคนมีศรัทธาในพระศาสนาของพระบรมศาสดา ต่อมาพลั้งพลาด
ในศีลธรรมเล็กน้อย พระสวามีต่อว่ากลับโกหกและหาอุบายลวง และด่าพระสวามีด้วย ต่อมามินานเกิดประชวร ทิวงคตได้ไปสู่นรกถึง ๗ วัน จึงได้ไปสวรรค์ อาสันนกรรมสำคัญเช่นนี้ คนโบราณจึงนิยมให้พระไปให้ศีลคนป่วยหนัก หรือบอกพระอรหังให้บริกรรม เพื่อช่วยให้ได้ไปสู่สุคติบ้าง.


๘. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม - กรรมสักแต่ว่าทำ คือ ทำโดยไม่เจตนา

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่เพลาที่สุด ทำด้วยเจตนาอ่อนๆ แทบจะว่าไม่มีเจตนา เช่น การฆ่ามดแมลงของเด็กๆ ที่ทำด้วยความไม่เดียงสา ไม่รู้ว่าเป็นบาปกรรม ในฝ่ายกุศลก็เช่นกัน เช่นเด็กๆ ที่ไม่เดียงสา แสดงคารวะต่อพระรัตนตรัยตามที่ผู้ใหญ่สอนให้ทำ เด็กจะทำด้วยเจตนาอ่อนที่สุด จึงชื่อว่า สักว่าทำ ถ้าไม่มีกรรมอื่นให้ผลเลย กรรมชนิดนี้ก็จะให้ผลได้บ้าง แต่ไม่มากนัก มีทางจะเป็นอโหสิกรรมได้มากกว่าที่จะให้ผล เพราะกำลังเพลามาก.


กรรมจัดตามกาลที่ให้ผล มี ๔

๙. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)]
เป็นกรรมที่สามารถให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ที่เรียกว่าให้ผลทันตา โดยมากเป็นกรรมประเภทประทุษร้าย
ผู้ทรงคุณ เช่น มารดาบิดา พระอรหันต์ แม้แต่เพียงการด่าว่าติเตียนท่านผู้ทรงคุณเช่นนั้น ก็เป็นกรรมที่แรง
สามารถห้ามมรรคผลนิพพานได้ ที่ท่านเรียกว่า อริยุปวาทกรรม การเบียดเบียนสัตว์ ทรมานสัตว์บางจำพวก
ก็มักให้ผลในปัจจุบันทันตาเหมือนกัน เช่น การเบียดเบียนแมว เป็นต้น ส่วนฝ่ายกุศลที่สามารถให้ผลในปัจจุบันทันตา น่าจะได้แก่พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ดั่งที่ตรัสไว้ ในสามัญญผลสูตรว่า

" ผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้

(๑) ได้รับการอภิวาทกราบไหว้
(๒) ได้รับการยกเว้นภาษีอากรจากรัฐบาล
(๓) ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล
(๔) ได้รับปัจจัยที่เขาถวายด้วยศรัทธา เลี้ยงชีพเป็นสุขในปัจจุบัน
(๕) ได้รับความไม่เดือดร้อนใจ เพราะมีศีลบริสุทธิ์
(๖) ได้รับความเงียบสงัดใจ ความแช่มชื่นเบิกบานใจ ความสุขสบายกายใจ เพราะใจสงบเป็นสมาธิ
(๗) ได้ฌานสมาบัติ
(๘) ได้ไตรวิชชา หรืออภิญญา สิ้นอาสวะในปัจจุบันชาตินี้
(๙) ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะเข้าถึงโลกที่มีสุขในเมื่อตายไป."

ในอรรถกถาธรรมบท ท่านเล่าถึงพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งเป็นคนยากจนค่นแค้น อยากบำเพ็ญทาน เพราะสำนึก
ได้ว่าที่ตนยากแค้นในปัจจุบันเพราะไม่ได้บำเพ็ญทานไว้ในชาติก่อน จึงตัดสินใจบริจาคผ้าสะไบผืนเดียว
ที่ตนกับภรรยาใช้ร่วมกันอยู่ออกบำเพ็ญทานถวายแด่พระบรมศาสดาซึ่งเป็นบุญเขตอันเลิศ ได้รับผลคอบแทนในปัจจุบัน คือพอแกบริจาคออกได้ แลรู้สึกโล่งใจและปีติเหลือประมาณ จึงเปล่งอุทานขึ้นในทันทีนั้นว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว บังเอิญพระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็เสด็จมาฟังธรรม ณ ที่นั้นด้วย เมื่อได้ทรงสดับ
จึงรับสั่งให้ถาม ทรงทราบแล้วทรงอนุโมทนาด้วย แล้วพระราชทานผ้าให้พราหมณ์ ๒ คู่ เพื่อเขาคู่หนึ่ง
เพื่อภรรยาคู่หนึ่ง เขายังมีศรัทธาน้อมเข้าไปถวายพระบรมศาสดาเสียอีก พระเจ้าปัสเสนทิโกศลจึง
พระราชทานเพิ่มให้ทวีขึ้น ในที่สุดทรงพระราชทานสิ่งละ ๑๖ แก่พราหมณ์ เขาได้รับความสุขเพราะกุศลกรรมของเขาในปัจจุบันทันตาดังนี้ แม้เรื่องอื่นๆ ทำนองนี้ก็มีนัยเช่นเดียวกัน


๑๐. อุปัชชเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่สามารถให้ผลต่อเมื่อเกิดใหม่ในชาติหน้า ในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง ถ้าเป็นกุศลกรรมก็อำนวยผลให้มีความสุข ตามสมควรแก่กรรมในคราวใดคราวหนึ่ง ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็ให้ผลเป็นทุกข์เดือดร้อนตามสมควรแก่กรรมในคราวใดคราวหนึ่ง ตัวอย่างสมมติว่า เมื่อชาติปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ ได้ทำกรรมไว้หลายอย่างทั้งบุญและบาป ตายแล้ว กลับมาเกิดเป็น
มนุษย์อีกด้วยอำนาจกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถแต่งกำเนิดได้ในชั่วชีวิตใหม่นี้ เราได้รับสุขสมบูรณ์เป็นครั้งคราว นั่นคือกุศลกรรมในประเภทนี้ให้ผล เราได้รับทุกข์เดือดร้อนเป็นบางครั้ง นั่นคืออกุศลกรรม
ในประเภทนี้ให้ผล การให้ตัวอย่างสมมติไว้ก็เพราะหาตัวอย่างที่เป็นจริงมาแสดงไม่ได้


๑๑. อปราปรเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลหลังจากอุปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลเรื่อยไป สบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่สามารถให้ผลสืบเนื่องไปหลายชาติ
ตัวอย่างข้อนี้มีมาก ฝ่ายกุศลกรรม เช่น พระบรมศาสดาทรงแสดงบุพกรรมของพระองค์ไว้ว่า ทรงบำเพ็ญเมตตา ภาวนาเป็นเวลา ๗ ปี ส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลกนานมาก แล้วมาเกิดเป็นพระอินทร์ ๓๗ ครั้ง เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๗ ครั้ง ฯลฯ ฝ่ายอกุศลกรรม เช่น พระมหาโมคคัลลานเถระในอดีตชาติ หลงเมีย ฟังคำยุยง ของเมียให้ฆ่ามารดาผู้พิการ ท่านทำไม่ลงเพียงแต่ทำให้มารดาลำบาก กรรมนั้นส่งผลให้ไปเกิดในนรกนาน ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ถูกเขาฆ่าตายมาตามลำดับทุกชาติ ถึง ๕๐๐ ชาติ กับทั้งชาติปัจจุบันที่ได้เป็นพระอรหันต์ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระบรมศาสดา.


๑๒. อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่ไม่มีโอกาสจะให้ผล เพราะไม่มีช่องที่จะเข้าให้ผลได้ เลยหมดโอกาสสิ้นอำนาจ สลายไป ในฝ่ายอกุศลกรรม เช่น พระองคุลิมาลเถระ ได้หลงกลของอาจารย์ เพราะความโลภในมนตร์ ได้ฆ่าคนจำนวนถึงพัน เพื่อจะนำไปขึ้นครูเรียนมนตร์ พระทศพลทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง พระอรหัตตผลมีอยู่ ทรงเกรงว่าจะฆ่ามารดา แล้วจะทำลายอุปนิสัยแห่งอรหัตตผล จึงรีบเสด็จไปโปรด ทรงแสดงทูเรปาฏิหาริย์ (Blogger Ekk - อธิษฐานที่ใกล้เป็นที่ไกล สิ่งที่อยู่ใกล้ไปปรากฏอยู่ไกล) และตรัสพระวาจาเพียงว่า " หยุดแล้ว คือทรงหยุดทำบาปแล้ว ส่วนท่านซิยังไม่หยุดทำบาป " ท่านเกิดรู้สึกตัว เข้าเฝ้าขอบรรพชาอุปสมบท ทรงประทาน อุปสมบทแล้วพาไปฝึกฝนอบรม จนได้บรรลุพระอรหัตตผล สิ้นภพสิ้นชาติ กรรมบาปซึ่งมีอำนาจจะให้ผลไปในชาติหน้า หลายแสนกัป ก็เลยหมดโอกาส ให้ผลเพียงเล็กน้อยในชาตินี้ ส่วนฝ่ายกุศลกรรมไม่อาจหาตัวอย่างได้

****************************
link อ้างอิง

กรรมทีปนี
http://phrabuddhasasana.com/kamma/index.php?option=com_content&view=category&id=18&Itemid=52

กรรมทีปนี (กรรม ๑๒ ประเภท) โดยท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)
http://board.palungjit.com/f8/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%99%E0%B8%B5-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-12-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-173993.html


http://coffeehour10.blogspot.com/search/label/Coffee%20talk

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อภิญญา 6

อภิญญา คือ ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง

มี 6 อย่างคือ
1. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
2. ทิพพโสต หูทิพย์
3. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
4. ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
5. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
6. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป,
5 อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา

จาก: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
http://84000.org/tipitaka/dic/

(*** Blogger Ekk - อภิญญา 5 ข้อแรก บุคคล แม้เป็นปุถุชน ผู้มีความพากเพียร ไม่ลดละในการบำเพ็ญ ก็สามารถลุถึงได้ แต่ก็อาจเสื่อมถอยลงไปได้ในภายหลัง หากฌานที่เคยได้นั้นเสื่อมลง ซึ่งศัตรู หรือข้าศึกแห่งฌาน ได้แก่ นิวรณ์ 5, กามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เป็นต้น เว้นเสียแต่บุคคลนั้นสามารถสำเร็จอาสวักขยญาณ ข้ามพ้นภูมิปุถุชน สู่ภูมิอรหันตบุคคล จึงจะสามารถรักษาอภิญญาอื่นๆ ทั้ง 5 ข้อแรก ได้ยั่งยืนตลอดไป)

บางตอนจาก บทนำ ในหนังสือทิพยอำนาจ โดยพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6)

"...ในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงอำนาจที่ว่านี้และเรียกชื่อว่า ทิพพจักขุ ตาทิพย์, ทิพพโสต หูทิพย์ คล้ายจะยืนยันว่ามีอำนาจทิพย์ในร่างกายมนุษย์นี้ด้วย แต่นักศึกษาทางพระพุทธศาสนาโดยส่วนมากมองข้ามไป ไม่ได้สนใจศึกษาเพื่อพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ เมื่อมีใครพูดถึงเรื่องนี้ก็มักตำหนิหาว่างมงาย เชื่อในสิ่งซึ่งไม่อาจเป็นได้ หาได้เฉลียวใจไม่ว่า พระบรมศาสดาเป็นผู้ทรงแสดงไว้ ทั้งปรากฏในพระประวัติของพระองค์ว่าทรงสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างดีด้วย น่าที่เราพุทธศาสนิกชนจะพึงศึกษาค้นคว้าพิสูจน์ความจริงกันดูบ้าง จะเป็นสิ่งไร้สาระเทียวหรือ ถ้าจะทำการพิสูจน์วิชาหูทิพย์ ตาทิพย์ ให้ทราบความจริงอย่างมีหลักฐาน ข้าพเจ้า (พระอริยคุณาธาร) กลับเห็นว่า จะเป็นทางช่วยให้พระพุทธศาสนาเด่นขึ้นอีก เพราะสิ่งใดที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎก หากเราพิสูจน์ให้เห็นจริงว่า สิ่งนั้นเป็นได้ตามที่ดำรัสไว้ ก็ย่อมเป็นพยานแห่งพระปัญญาของพระบรมศาสดา..."

"... อำนาจลึกลับมหัศจรรย์ เกินวิสัยสามัญมนุษย์นั้น แม้มิได้ตรัสเรียกว่า ทิพยอำนาจ โดยตรงก็ตาม ก็ได้ทรงกล่าวถึงอำนาจนั้นไว้แล้วอย่างพร้อมมูล และตรัสบอกวิธีปลูกสร้างอำนาจนั้นขึ้นใช้อย่างดีด้วย เป็นการพอเพียงที่เราจะสันนิษฐานว่า พระบรมศาสดาได้ทรงบรรลุอำนาจนั้นทุกประการ และทรงใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลมาแล้ว ในสมัยยังทรงพระชนม์อยู่..."

***********************
คำชี้แจง จาก Blogger Ekk

อันเนื่องมาจาก เธอ...คนนั้น
ผู้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักและเป็นกัลยาณมิตรคนสำคัญยิ่งของผม
เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผมเกิดความสนใจจริงจัง ได้ทำการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเรื่องอภิญญา ยิ่งได้อ่านได้รู้มากขึ้นๆ ก็ทำให้ผมเกิดความซาบซึ้งศรัทธาต่อความสมบูรณ์ บริบูรณ์ของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งต่อความรู้ (วิชชา) ในพระพุทธศาสนา ภายใต้ร่มเงาแห่งพระโพธิญาณ อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ชอบแล้วด้วยดี

โดยผมได้ทำการคัดลอกเนื้อหามาจากหนังสือ 3 เล่มนี้เป็นหลัก คือ
1) ทิพยอำนาจ โดยพระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เส็ง, ป.ธ. 6)
2) คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน และ 3) อภิญญา โดยพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
ซึ่งบางส่วนที่นอกเหนือจากที่พิมพ์ด้วยตนเอง ผมคัดลอกมาจากเว็บอีกชั้นหนึ่ง ได้แก่
http://www.palungjit.com
http://www.dhammajak.net

ทั้งนี้เนื้อหาที่คัดลอกมานี้ ผมได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งให้ เธอ คนนั้น ได้อ่านเป็นตอนๆ ทางอีเมล จึงเป็นเนื้อหาเพียงเพื่อให้เข้าใจในหลักการสำคัญ และรายละเอียดบางส่วนเท่าที่จำเป็น เนื่องจากไม่สามารถคัดลอกเนื้อหามาได้ทั้งหมด ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดเกิดความสนใจจริงจังในการปฏิบัติฝึกฝนเพื่ออภิญญา พึงศึกษาโดยละเอียดจากหนังสือฉบับสมบูรณ์ ดังมีตัวอย่างตามรายชื่อหนังสือที่ได้อ้างอิงไว้ตอนท้ายของบทที่ 6 อาสวักขยญาณ

หลังจากรวบรวมเนื้อหาได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจึงมีความคิดในการบันทึกเนื้อหาดังกล่าวลงบนบล็อค Ekk's D-BOOK เพื่อความสะดวกในการอ่านทบทวนเนื้อหาหลัก เป็นการเฉพาะส่วนตัวของผมเอง และได้เพิ่มเติมเนื้อหาของบทที่ 6 อาสวักขยญาณ หวังว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สนใจใคร่รู้ในเรื่องนี้ตามสมควร


ด้วยความปรารถนาดี

Blogger Ekk

24/08/2553

1. อิทธิวิธิ

อภิญญาที่ 1 - อิทธิวิธิ (ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้)

อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น อยู่ยงคงกระพัน ล่องหนหายตัว ย่นระยะทางได้ เหาะเหินเดินอากาศ ดำดิน เดินบนผิวน้ำ หรือเดินลงไปในน้ำได้

จาก : หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

อภิญญาที่ ๑ อิทธิฤทธิญาณ อภิญญาที่ ๑ นี้ ผู้ประสงค์จะฝึกท่านให้เรียนกสิณ ๑๐ ให้ชำนาญจากอาจารย์ผู้สอนเสียก่อน ถามวิธีฝึกและข้อเคล็ดลับต่าง ๆ ให้เข้าใจ เมื่อขณะฝึกนั้นถ้ามีอะไรสงสัยให้รีบหารืออาจารย์ อย่าตัดสินเองเป็นอันขาด ข้อสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจะเรียนนั้นดูอาจารย์เสียก่อนว่าได้แล้วหรือเปล่า ถ้าอาจารย์ไม่ได้ก็จงอย่าไปขอเรียนเลย เคยเห็นพาลูกศิษย์ลูกหาไปผิดลู่ผิดทาง เลอะเทอะกันมาแล้ว เมื่อเห็นอาจารย์ได้จริงแล้วก็เรียนเถิด ท่านคงไม่พาเข้ารกเข้าป่า เมื่อทำกสิณได้ชำนาญทั้ง ๑๐ อย่างแล้ว ท่านให้พยายามเข้าฌานตามลำดับฌาน แล้วเข้าฌานตามลำดับกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌาน แล้วเข้าฌานสลับกสิณ ทำให้คล่องนึกจะเข้าเมื่อไรเข้าฌานได้ทันที นอนหลับพอรู้สึกตัวก็เข้าฌานได้ทันที กำลังเดิน กำลังทำงาน กำลังพูด อ่านหนังสือ ดูมหรสพ หรือในกิจต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ เมื่อคิดว่าเราจะเข้าฌานละก็เข้าได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าได้อภิญญาที่ ๑ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ตามความพอใจ


กสิณ 10
http://www.palungjit.com/smati/k40/kasin10.htm

องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง

ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิต นั้นเป็นอารมณ์ วิจาร พิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้น คือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงามคล้ายแว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงเก่าที่บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากธุลีต่างๆ
ปีติ มีประเภท ๕ คือ

๑. ขุททกาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้าและน้ำตาไหล
๒. ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
๓. โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง คล้ายเรือที่ถูกคลื่นซัด บางท่าน
ก็นั่งโยกไปโยกมา อย่างนี้เรียก โอกกันติกาปีติ
๔. อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยไปได้ไกลหลายๆ กิโลก็มี
๕. ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าซาบซ่านทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายใหญ่ สูงขึ้นกว่าปกติ
สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต
เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติ ไม่สอดส่าย
อารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิต ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่นๆ แปลกแต่กสิณนี้ มีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่ จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน

ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง คงเหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงดงามวิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็นสุขประณีตกว่าเดิม อารมณ์จิตแนบสนิทเป็นสมาธิมากกว่า

ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้เหลือแต่ความสุขแบบเครียดๆ คือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที่ ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องใสเกินกว่าที่ประสบมาอารมณ์ของจิตไม่สนใจกับอาการทางกายเลย

จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตากับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่งไม่มีอารมณ์รับความสุข และความทุกข์ใดๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มีอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลง คล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมากหลายๆ ดวงมาตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่ เสียงลมหายใจ สงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔ เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่ายๆ ไว้ว่า เมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่ายๆ แบบนี้สะดวกดี ท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบของกสิณต้องถึงฌาน ๔ และนิมิตอะไรต่ออะไรตามอำนาจกสิณ ถ้าทำไม่ถึงกับนิมิตได้ตามอำนาจกสิณก็เป็นเสมือนท่าน ยังไม่ได้กสิณเลย

อานุภาพกสิณ ๑๐
กสิณ ๑๐ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติในกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณกองนั้น ๆ มีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน ๔ แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆ มีดังนี้

ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น นิรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคน ๆ เดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้

อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ฝนแล้งให้เกิดฝน อย่างนี้เป็นต้น

เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่าง ให้เกิดแก่จักษุญาณสามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนใน ทุกสถานที่ได้

วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลม อธิษฐานให้มีลมได้

นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้
ปีตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้
โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
โอทาตกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็น

กรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ อาโลกกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นที่อับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่ง มีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้


วิธีอธิษฐานฤทธิ์

วิธีอธิษฐานจิตที่จะให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ก่อน แล้วออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แล้วกลับเข้าฌาน ๔ อีก ออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา

************
***Blogger Ekk เพิ่มเติมในเรื่อง อธิษฐานบารมี ประกอบกัน เพื่อฝึกฝนอุปนิสัย ใช้ให้เกิดอิทธิวิธีได้ดียิ่งขึ้น ***

จาก: หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6)

อธิษฐานบารมี ที่จะดีเด่นได้ต้องประกอบด้วย อธิษฐานธรรมซึ่งเป็นกำลังหนุน 4 ประการ
1. สัจจะ - ความสัตย์ มีใจมั่นหมายไม่กลับกลอก
2. ทมะ - มีความสามารถบังคับจิตใจได้ดี
3. จาคะ - มีน้ำใจเสียสละอย่างแรงกล้า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่กว่าที่มีอยู่แล้วจะไม่รีรอเพื่อสิ่งนั้นเลย ยอมทุ่มเททุกสิ่งอย่างกระทั่งชีวิตเข้าแลก
4. ปัญญา - มีความฉลาดเฉลียว รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์-ไม่เป็นประโยชน์, ควร-ไม่ควร, เป็นได้-เป็นไม่ได้ แล้วดำรงในสัตย์อันเป็นประโยชน์ และเป็นธรรม บังคับจิตใจให้เป็นไปในอำเภอ ทุ่มเทกำลังพลังลงเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น

2. ทิพพโสต

อภิญญาที่ 2 ทิพพโสต (หูทิพย์)

จาก : หนังสืออภิญญา โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

อภิญญาที่ ๒ ทิพโสตญาณ ญาณหูทิพย์นี้ ท่านให้เข้าฌานในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ได้ เป็นกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือ กรรมฐานกองนี้ทรงคุณถึงฌานที่ ๔ ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทรงคุณไม่เสมอกันหรืออย่างไร ขอตอบว่ากำลังของกรรมฐานทั้ง ๔๐ ไม่เท่ากัน เช่น อนุสสติ ๓ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น ทรงกำลังได้เพียงอุปจารฌาน กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ จตุธาตุ ๔ เป็นต้น ทรงกำลังได้ถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้เป็นฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท เพราะทรงอภิญญาไว้ได้ กำลังของกรรมฐานไม่เท่ากันอย่างนี้ ท่านจึงให้เลือกกรรมฐานเข้าฌาน เข้าให้ถึงฌานที่ ๔ แล้วถอยจิตออกจากฌานให้ตั้งอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วคิดคำนึงถึงเสียงที่ได้ยินมาแล้วในเวลาก่อน ๆ ในระยะแรกให้คำนึงถึงเสียงที่ดังมาก ๆ เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงหวูดรถไฟ เรือยนต์ แล้วค่อยคำนึงถึงเสียงที่เบาลงมาเป็นลำดับ จนถึงเสียงกระซิบ และเสียงมดปลวก ซึ่งปกติเราจะไม่ได้ยินเสียง คำนึงด้วยจิตในสมาธิ จนเสียงนั้น ๆ ก้องอยู่ คล้ายกับเสียงนั้นปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และใกล้หู ต่อไปก็คำนึงถึงเสียงที่อยู่ไกลข้ามบ้าน ข้ามตำบล อำเภอ จังหวัด และเสียงที่บุคคลอื่นพูดแล้วในเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว เมื่อเสียงนั้น ๆ ปรากฏชัดแล้ว เป็นอันว่าได้ ทิพโสตญาณ หูทิพย์ในอภิญญาที่ ๒

**********



จาก : หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เส็ง, ป.ธ. 6)

วิธีฝึก
1) ฝึกสมาธิให้ถึงฌาน 4

2) เข้าฌาน 1-2-3-4 แล้วสำเหนียกฟังเสียงคน สัตว์ ฯลฯ โดยรอบทิศ ในระยะใกล้ๆ ตัวเสียก่อน แล้วจึงขยายออกไป โดยลำดับให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้ จนสุดขอบจักรวาลเป็นที่สุด
3) เข้าฌาน 1-2-3-4 แล้วสำเหนียกฟังเสียงแผ่วเบา เช่น เสียงหัวใจเต้น เสียงคล้ายทิพย์ เช่น เสียงความคิดของคน เสียงผี เสียงในสวรรค์ 6 ชั้น เสียงพรหม
4) เข้าฌาน 1-2-3-4 แล้วสำเหนีกฟังเสียงแก้ว (เสียงของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์) ด้วยหูแก้วต่อไป จนฟังได้ยินชัดเจนเหมือนฟังเสียงคนธรรมดา

*** สำเหนียก คือ ทำสติ จดจ่อฟังเสียง พุ่งสติไปรวมที่โสตประสาท คอยฟังเสียง

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

3. เจโตปริยญาณ

อภิญญาที่ 3 เจโตปริยญาณ (ญาณที่ให้กำหนดใจคนอื่นได้)

จาก : หนังสืออภิญญา โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

อภิญญาที่ ๓ เจโตปริยญาณ ญาณนี้รู้ใจคนและสัตว์ รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ในขณะนี้หรือก่อน หรือในวันต่อไป
เจโตปริยญาณ ก็ดี จุตูปปาตญาณ ก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ล้วนเป็นกิ่งก้านของทิพจักขุญาณ เมื่อท่านเจริญทิพจักขุญาณ คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์ได้แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้เจโตและจุตูปปาตญานเอง ทำทิพจักขุญาณนั้นเป็นญาณที่สร้างให้ได้ก่อนญาณอื่น เพราะเจริญกรรมฐานให้ได้เพียงอุปจารฌาน คือ เจริญอาโลกกสิณ โอทาตกสิณ หรือ เตโชกสิณ ใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้อุปจารฌาน แล้วกำหนดจิตว่าต้องการเห็นนรก ก็ถอนจิตจากนิมิตกสิณนั้นเสีย แล้วกำหนดใจดูนรก ภาพนรกก็จะปรากฏ เมื่อประสงค์จะเห็นสวรรค์และอย่างอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกันการเห็นนั้นจะมัวหรือชัดเจนขึ้นอยู่กับนิมิต

กสิน 10 http://www.palungjit.com/smati/k40/kasin10.htm


เมื่อเพ่งนิมิตคือ รูปกสิณ ถ้าเห็นรูปกสิณชัดเท่าใด ภาพนรกสวรรค์หรืออย่างอื่นที่เราปรารถนาจะรู้ก็ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้น เมื่อท่านเจริญกสิณกองใดกองหนึ่งใน ๓ กองนี้จนได้อุปจารฌานแล้ว ฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ให้พยายามทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ โดยลำดับ ท่านจะได้ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น และสามารถเจรจากับพวกพรหมเทวดา และภูตผีปีศาจได้เท่า ๆ กับมนุษย์ เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว ก็จะรู้วาระจิตของคนอื่น ว่าคนนี้มีกิเลสอะไรเป็นตัวนำ ขณะนี้เขากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เรียกว่า


"เจโตปริยญาณ" และรู้ต่อไปว่าสัตว์ตัวนี้หรือคน ๆ นี้ ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์หรือคนที่เกิดใหม่นั้นมาจากไหน อย่างนี้เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" และรู้ต่อไปว่าสัตว์หรือคนที่มาเกิดนี้เพราะกรรมอะไรที่เป็นบุญหรือเป็นบาปบันดาลให้มาเกิด เขาตายไปแล้วไปตกนรกเพราะกรรมอะไร ไปเกิดบนสวรรค์เพราะกรรมอะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า "ยถากัมมุตาญาณ" สามารถรู้เรื่องในอดีตคือที่ล่วงมาแล้วมาก ๆ เรียกว่า "อตีตังสญาณ" รู้เรื่องในอนาคตได้มาก ๆ เรียกว่า "อนาคตังสญาณ" และเมื่อปรารถนาจะรู้เรื่องถอยหลังไปถึงชาติก่อน ๆ นี้ก็รู้ได้ เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" รวมความแล้วเมื่อเจริญกรรมฐานในกสิณ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จนถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ญาณรวมกันทั้งหมด ๗ อย่าง เป็นกรรมฐานที่ได้กำไรมาก

*************

...สำหรับเจโตปริยญาณ ผมอยากให้ท่านคล่องตรงนี้ เจโตปริยญาณ นี่ท่านบอกว่าสามารถรู้วาระน้ำจิตของคนอื่นหรือว่าวาระน้ำจิตของเรา เนื้อแท้จริง ๆ เราต้องการรู้วาระจิตของเราเป็นสำคัญ
คือ อารมณ์จิต ดูใจของเราว่าสภาพใจของเราผ่องใสหรือไม่ผ่องใส สีของจิตมี ๖ อย่าง แต่เอาอย่างโดยย่อมี ๓ อย่างพอ นี่เป็นแนวปฏิบัติ เรื่องจิตของเรานี้จะต้องฝึกดูทุกวัน ถ้าฝึกดูจิตของเราทุกวัน ตื่นขึ้นมาเช้ามืดทำใจให้สบายแล้วก็ดูใจของตน และเมื่อเวลาดูใจน่ะต้องพยายาม ถ้าใจมีสีแดงแสดงว่าเรามีความดีใจในด้านวัตถุหรือว่าอารมณ์ที่เป็นโลกียวิสัย ถ้าใจมีสีมัวหรือสีดำหมายถึงว่าความวุ่นวายของจิต ถ้าใจเป็นสีแก้วหมายความว่าจิตโปร่งจากกิเลส การดูจิตนี่มีความสำคัญมาก ดูของเราอย่าไปดูของเขา เรื่องดูของเขามันดูง่านย ดูของเรามันดูยาก พยายามซักซ้อมการดูจิตให้คล่อง แล้วพยายามไล่สีให้หมด

ถ้าจิตมันมีสีแดงก็นึกว่าเรามีความดีใจเพราะเหตุอะไรเป็นสำคัญ พอรู้เหตก็ขับไล่เหตุนั้นไป ถือว่าไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ถ้าจิตมันมีสีมัวมานึกถึงว่าอารมณ์เรามัวเพราะอะไร พอรู้แล้วก็ขับมันไป ถือว่าทุกอย่างในโลกมันเป็นของธรรมดา ทำไมจะต้องมาดีใจ ทำไมจะต้องมาเสียใจกับเรื่องของโลกียวิสัย
สิ่งใดที่มันกระทบกระทั่งใจมันก็ผ่านไปแล้ว นั่นมันเป็นอดีต และก็สิ่งที่ยังไม่ถึงมันเป็นอนาคต ปัจจุบันนี่เราต้องมีอารมณ์แจ่มใสอยู่เสมอ อารมณ์จะต้องทรงตัว จิตจะต้องเป็นแก้วอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราเป็นแก้วธรรมดา แสดงว่าจิตของเราอยู่ในขั้นของ " ฌานโลกีย์ " อันนี้มันเร็วนี่ครับ วิธีนี้การปฏิบัติเร็วมาก การเข้าเป็นพระอริยเจ้าก็เร็ว แต่ว่ายังสู้มโนมยิทธิเขาไม่ได้นะ ไกลกันมากความว่องไวไกลมากต้องใช้เหนื่อยมาก ทีหลังเราก็ต้องการที่จะทำจิตของเราให้เข้าถึง " โลกุตตรฌาน " คือ เป็นพระอริยเจ้า การศึกษาตอนนี้ก็ศึกษากับพระนั่นเองแหละ ไม่ต้องนั่งอ่านตำราให้มันลำบาก วันทั้งวันจิตใจจับพระไว้เป็นปกติ แล้วศึกษกับท่านว่าทำยังไงเราจึงจะเป็นพระโสดาบัน ภาพพระนิมิตเขาบอกเอง แล้วจะทำยังไงจะเป็นสกิทาคามี อนาคามี อรหันต์

อันดับแรก ถ้ากำลังจิตของเรายังอ่อน จับอารมณ์พระโสดาบันก่อน ถามท่าน หรือว่า เรารู้แบบฉบับแล้วก็ศึกษากับท่านโดยจุดที่ว่ายังอ่อน ว่าเวลานี้จิตของเราอ่อนจุดไหน ท่านจะแก้ไขจุดไหน พระจะบอกเองว่าจะแก้จุดนั้นจุดนี้ แล้วเราก็แก้ ๆ ด้วยความตั้งใจจริง ถ้าควบคุมจิตอยู่อย่างนี้ ๒ - ๓ วันเท่านั้นแหละ อารมณ์จิตจะเป็นประกายแพรวพราวออกมา ถ้าเป็นพระโสดาบันก็จะเป็นประกายโดยรอบประมาณสัก ๑ ใน ๔ ถ้าจิตเราเริ่มเป็นวิปัสสนาญาณเข้าใจ ใจเริ่มเป็นวิปัสสนาญาณ จิตโดยรอบจะเป็นประกายเล็กน้อย คือ วงรอบ ๆ ของจิต ต่อไปเราก็ศึกษาข้ามขั้นไปเลย อย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องการพระอนาคามี พระอนาคามีนี่เราก็รู้แล้วว่าต้องตัดกามฉันทะกับปฏิฆะ เราก็ถามว่าการตัดกามฉันทะกับปฏิฆะอย่างไหนที่เราจะต้องตัดก่อน เพราะเรารู้ไม่ได้ว่าจิตของเราอ่อนตรงไหน ท่านก็จะบอกจุด ดีไม่ดีท่านก็บอกจุดตัดปฏิฆะเลย คือ ความโกรธความพยาบาท และถ้าใจเรายังคล่องทั้ง ๒ อย่าง ท่านก็จะแนะจุดการตัดทั้ง ๒ อย่าง แล้วก็ปฏิบัติตามท่าน โดยการควบคุมอารมณ์จิตของเราไว้เป็นปกติ จิตมันจะใสขึ้นมาเป็นประกายแพรวพราว จนกระทั่งรู้สึกว่ามีแกนสีแดงหรือว่ามีแกนสีขาวนิดหน่อย ตอนนี้อารมณ์ในกามฉันทะความต้องการในเพศ หรือ ปฏิฆะความกระทบกระทั่งในจิตจะไม่มี ถ้าตอนถึงอนาคามีนี่ต้องลองนะ ลองดู ..
สิ่งไหนที่เราเห็นว่าสวย เราเคยเห็นว่าสวยเราไปทดสอบอาการอย่างนั้นให้ไปพบจุดนั้น ๆ เมื่อเห็นเข้าแล้วเห็นมันเกิดความสะอิดสะเอียนในร่างกายของคนและวัตถุนั้น ๆ ว่าเนื้อแท้จริง ๆ มันไม่มีอะไรสวย มันเป็นของน่าเกลียดโสโครกจนอารมณ์ชิน แล้วก็ดูใจของเราทุกวัน วันทั้งวันน่ะดูมันเรื่อยไป ใจมันจะไม่เปลี่ยนแปลง มันจะไม่เศร้าหมองลงไป ใจจะใสสะอาดเป็นประกายเล็กน้อย อย่างนี้ชื่อว่าทรงความเป็น " อนาคามี "
ทีนี้ถ้าเราจะปฏิบัติในขั้นอรหัตผล อรหัตผลนี่มีสังโยชน์อยู่ ๕ คือ :-
๑. รูปราคะ ติดในรูปฌาน
๒. อรูปราคะติดในอรูปฌาน
๓. มานะ ติดในความถือตัวถือตน
๔. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้ง
๕. อวิชชา ติด" ฉันทะ " กับ " ราคะ " คือ พอใจโลกนี้ เทวโลก และ พรหมโลก

แล้วก็ถามพระว่าจะตัดจุดไหนมันถึงจะเร็ว ท่านก็จะบอก บอกแล้วก็ตัดจุดนั้น ถ้าเราตั้งใจจริงนี่สภาพแบบนี้สามารถตัดอารมณ์ที่ท่านบอกได้ภายใน ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน นี่นะครับ การฝึกทิพจักขุญาณมีประโยชน์อย่างนี้ นี่รู้จิตของเราไม่ต้องการไปรู้จิตของคนอื่น เรื่องจิตของคนอื่นอย่าไปยุ่ง เขาจะดีจะเลวมันเป็นเรื่องของเขา เรื่องตัวของเราสำคัญ เมื่อเราสามารถชำระจิตของเราได้จับจิตของเราได้แล้ว เรื่องจิตของคนอื่นมันง่ายกว่าจิตของเรา เพียงเขาบอกชื่อคนนั้นคนนี้มา ถ้าเราต้องการรู้คนนี้อยู่ระดับไหนจะเห็นจิตทันที ขุ่นหรือใส เป็นประกายหรือเปล่า จะรู้สภาวะการณ์ปรากฏของเขาว่า เวลานี้เขาทรงธรรมอยู่ในขั้นไหน หรือว่ากำลังใจของเขาเป็นสัตว์นรกนี่เรารู้ได้

**********************
**********************

จาก : หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6)

ให้ฝึกจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้ชัดในลักษณะจิต 16 อย่างของตนเอง จะทำให้เกิดญาณรู้จิตของคนอื่นได้
การพิจารณาจิต 16 อย่าง
1) จิตมีราคะ 2) จิตไม่มีราคะ

3) จิตมีโทสะ 4) จิตไม่มีโทสะ
5) จิตมีโมหะ 6) จิตไม่มีโมหะ
7) จิตหดหู่ 8) จิตฟุ้งซ่าน
9) จิตใหญ่ (จิตในฌาน) 10) จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน)
11) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า 12) จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
13) จิตตั้งมั่น 14) จิตไม่ตั้งมั่น
15) จิตหลุดพ้น 16) จิตไม่หลุดพ้น

***********
อำนาจทิพย์ทั้งปวงที่ผ่านมายังรวมไปถึงการกำหนดรู้จิตใจผู้อื่นที่เรียกว่า ‘เจโตปริยญาณ’ อีกด้วย การกำหนดรู้หรือดักใจผู้อื่นจะมีได้มากน้อยขึ้นอยู่กับอำนาจแห่งสมาธิของแต่ละบุคคลตามภาวะนั้น ๆ
โดยปกติลักษณะทั่วไปของเจโตปริยญาณมักจะบังเกิดได้ทางกระแสสัมผัสทางเดียว แต่สำหรับผู้ทรงภูมิธรรมชั้นสูง ๆ อาจรู้ได้ด้วยประการต่าง ๆ หลายประการด้วยกัน ดังตัวอย่างที่พระอริยคุณาธาร (เส็ง) ปุสโส กล่าวอ้างไว้ใน ‘ทิพยอำนาจ’ โดยบันทึกไว้ว่า... “พระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) อาจารย์ของข้าพเจ้าได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ญาณความรู้ที่เกิดขึ้นในการกำหนดรู้เหตุการณ์ อุปนิสัยใจคอของผู้อื่นนั้นมีสามอย่างคือ


1. เอกวิธัญญา รู้โดยส่วนเดียว หมายความว่า รู้สึกขึ้นในทางใจที่เดียว เช่น รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ ในวันนั้นหรือวันไหนในอดีต หรืออนาคตได้ ส่วนอุปนิสัยของคนก็รู้ได้ในใจว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ประการเดียว โดยไม่อาศัยนิมิตอื่นใด
2. ทุวิธัญญา รู้โดยส่วนสอง คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นมาก่อน จึงรู้ความหมายตามนิมิต
3. ติวิธัญญา รู้โดยส่วนสาม คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นก่อน แล้วต้องกำหนดตามในใจเสียก่อน เข้าสู่ความสงบจนถึงฐิติจิต ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ จึงสามารถรู้เรื่องตามนิมิตที่ปรากฏนั้น”
(ความรู้อันเป็นลักษณะ ‘ทิพย์’ ที่กล่าวมา เป็นการรับรู้ด้วยญาณหลาย ๆ อย่าง มีทั้งเจโตปริยญาณ ทั้งทิพยจักษุญาณ และยังมีญาณแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ อีกหลายประการ อย่างเช่น อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ เป็นญาณรู้ อดีต...อนาคต ฯลฯ)


รวมความแล้วการฝึกอบรมใจให้สงบบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ญาณหยั่งรู้และภาวะแห่งทิพย์จะบังเกิดขึ้นมากมายตามกำลังแห่งวาสนาบารมี โบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า... จิตใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์ สมมติลักษณะได้ว่าเป็น ‘ใจแก้ว’ เพราะมีลักษณะใสดั่งแก้วมณีโชติ ถ้าฝึกฝนได้ถึงขั้นใจแก้วแล้ว ภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมา หรือกำลังจะเกิดย่อมแสดงเงาขึ้นที่ใจแก้ว เหมือนเงาปรากฏขึ้นที่กระจกอย่างไรอย่างนั้น...
ใจแก้วจึงเป็นจุดศูนย์รวมของญาณหยั่งรู้ทุกประการ!
ผู้ปรารถนาภาวะทิพย์ ปรารถนาญาณหยั่งรู้พิเศษต่าง ๆ พึงฝึกฝน ‘ใจ’ อันเป็นธาตุรู้...ธาตุพิเศษของตนให้บริสุทธิ์เหมือนแก้วมณีโชติ ...ทุกประการจะสำเร็จดังมโนรถทุกประการ...
วิธีปลูกสร้างเจโตปริยญาณ ไม่มีอะไรดีวิเศษไปกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าจบเรื่องที่กล่าวในบทนี้แล้ว ผู้ศึกษาที่ต้องการเจโตปริยญาณพึงฝึกหัดตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเถิด จะสมหวังโดยไม่ยากเย็นเลย

4. ปุพเพนิวาสานุสสติ

อภิญญาที่ 4 ปุพเพนิวาสานุสติ (ญาณที่ทำให้ระลึกถึงชาติได้)

(จาก: หนังสืออภิญญา โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

.......ต่อไปก็เป็น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติถอยหลัง พอจับภาพพระสดใสดีแล้ว ก็ลองกำหนดจิตคิดว่า ชาติก่อนที่เราจะมาเกิดนี้เราเป็นอะไร ถ้าภาพนั้นปรากฏ เราก็พิจารณาดูว่า ภาพที่ปรากฏนั่นน่ะมีอะไร ใครเป็นพ่อใครเป็นแม่ รูปร่างหน้าตาของเราจะเป็นยังไง ใครเป็นสามีภรรยามีบุตรธิดาเท่าไหร่ ลองใช้กำลังของจิต แต่ทว่าผมว่าทิ้งเสียดีกว่า นี่ผมว่าตามแบบนะ ถ้าตามวิธีปฏิบัติ ถ้าหากว่า ๆ ตามแบบนี่เหนื่อยเกือบตาย ถอยหลังไปทีละชาติ ๆ มันก็ไปได้แต่ไปได้แบบช้า ๆ ถ้าหากว่าใช้วิธีลัดใช้อารมณ์จนคล่อง และก็ต้องการอยากจะรู้ว่าที่เราเกิดมานี้เกิดมาแล้วกี่ชาติ เป็นคนหรือว่าเกิดเป็นสัตว์กี่ชาติ เกิดในสัตว์นรก เป็นเทวดา เป็นพรหมกี่ชาติ ถามพระเลย อย่างนี้ง่ายกว่า (ถามพระพุทธเจ้า)

แต่วิธีที่ผมเล่นมาผมเล่นแบบนี้ แต่เมื่อก่อนนี้ก็ถอยหลังไปทีละชาติ ๆ เหมือนกัน มันเหนื่อยเกือบตาย ดูเหมือนว่าผมลองเล่นถอยหลังอยู่ประมาณ ๗ ชาติ ไอ้ ๗ ชาติน่ะเป็นไปด้วยความฝืด ต่อมาก็เอาใหม่ ไม่เอาล่ะ! เดินไปถ้าเห็นคนเขายากจนเข็ญใจ นึกจิตจับภาพพระนึกถามเลยว่า เคยเกิดเป็นคนจนลำบากแบบนี้มาแล้วกี่ชาติ ก็จะปรากฏว่ามีความรู้สึกขึ้นมาในใจ เหมือนกับพระท่านตอบมาเท่านั้นชาติ แต่ละชาติเป็นยังไง ความรู้สึกมันจะเห็นภาพแต่ละชาติที่เรามีความลำบาก หรือมีความสบายอยู่ในฐานะเช่นนั้น ต้องการรู้ใครที่เป็นภรรยา สามี บิดา มารดา ภาพนั้นก็ปรากฏ นี่สบายดีผมก็เล่นอย่างนี้ ต่อไปถ้าผมเห็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสุนัขก็ดี เป็นวัวก็ดี เป็นควายก็ดี ช้าง ม้า ไม่ว่าอะไรทั้งหมด
ผมชอบซน ๆ ก็นึกดู เอ๊ะ! นี่เราเคยเป็นสัตว์เช่นนี้บ้างหรือเปล่า ก่อนจะรู้พอนึกพั๊บจิตมันก็จับพระทันทีเพราะมันคล่อง ต้องเล่นให้คล่อง ไอ้ภาพที่เราเคยเกิดเป็นสัตว์ประเภทนี้ มันจะโผล่ขึ้นหน้าสลอน นี่หมายความว่าไอ้หน้าสลอนน่ะมันแต่ละหน้าน่ะหนึ่งชาติ ถ้าสิบชาติมันก็สิบหน้า ร้อยชาติมันก็ร้อยหน้า ถ้าท่านทั้งหลายจะถามว่านับไหวหรือ ก็ต้องบอกว่าเวลานั้นสภาพของจิตเป็นทิพย์ ไม่ต้องไปนั่งนับหรอก พึ๊บมารู้ รู้ประมาณจำนวนทันที ถ้าต้องการรู้เราเป็นเทวดาหรือพรหมมีสภาวะเช่นไรก็ทำอย่างงั้นแหละ อย่างนี้ก็เป็นวิธีที่ง่ายดีและก็แม่นยำ คือ นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ

*******************
*******************

จาก : ทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6)
วิธีฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

1. ฝึกสติ ฝึกสมาธิจนถึงฌานที่ 4 อย่างน้อย มีใจบริสุทธิ์ สะอาด นิ่มนวล เหนียวแน่น ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ควรแก่การนึกทวนลำดับเหตุการณ์ได้นานหลายชั่วโมง

2. ทำความสงบถึงฌาน 4 แล้วทำสตินึกทวนลำดับเหตุการณ์แห่งชีวิตประจำวัน ถอยคืนไปในเบื้องหลังที่ผ่านมาในชีวิตปัจจุบันอย่างละเอียดถี่ถ้วน จับตั้งแต่ตอนต้นเริ่มนั่งภาวนาคืนไปจนถึงวานนี้ วันก่อน สัปดาห์ก่อน ปักษ์ก่อน เดือนก่อน ปีก่อน โดยลำดับๆ จนถึงเวลานอนในครรภ์มารดา ถ้าติดขัดตรงไหน ต้องหยุด ทำความสงบนิ่งนานๆ เสียก่อน แล้วจึงนึกต่อไปจนเห็นสภาพของตนอยู่ในครรภ์มารดา ตอนนี้ต้องนึกให้เห็นแจ่มชัดแจ้งที่สุด นึกแล้วนึกอีก แจ่มแล้วแจ่มอีกทุกระยะของสภาพในครรภ์นั้นจนทะลุไป คือเห็นเหตุการณ์ก่อนเข้าปฏิสนธิในครรภ์ ชื่อว่า ตีด่านสำคัญสำเร็จแล้ว

3. พึงเข้าสมาธิถึงฌาน 4 แล้วนึกทวนเหตุการณ์ของชีวิต โดยนัยข้อ 2 จนทะลุด่านปฏิสนธิ มองเห็นเหตุการณ์ก่อนเข้าปฏิสนธิได้แล้ว พึงทำสติทวนตามไปว่า ก่อนแต่จะมาปฏิสนธินั้นอยู่ไหน มีสภาพอย่างไร ก็จะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นภาพชีวิตที่ล่วงแล้ว เป็นตอนๆ เหมือนภาพบนจอภาพยนตร์ ก็จะรู้ขึ้นพร้อมกับภาพนั้นๆ ว่าเป็นอะไรกับตน ถ้าไม่รู้พึงนึกถามในใจ แล้วสงบอยู่ ก็จะรู้ขึ้นตามเป็นจริง ชื่อว่าสำเร็จปุพเพนิวาสานุสสติญาณสมปรารถนา ต่อจากนั้นจะไม่เป็นการลำบากในการระลึกชาติหนหลัง เมื่อต้องการทราบ แล้วทำความสงบใจ นึกถามดูภาพชีวิตในอดีตที่ต้องการทราบก็จะปรากฏแก่ตาใจเสมอไป เป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันชาติทีเดียว.......

5. ทิพพจักขุ

อภิญญาที่ 5 ทิพพจักขุ (ตาทิพย์)

ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) คือ ญาณที่ทำให้มองเห็น
- รูปทิพย์ เช่น เทวดา พรหม ผี เปรต อสุรกาย ฯลฯ
- เหตุการณ์ /ความเป็นไป ของสรรพสัตว์ในระยะไกล อดีต ปัจจุบัน อนาคต
- สิ่งลี้ลับต่างๆ
- มองทะลุสิ่งกีดขวางทั้งปวง


จาก: หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร
*************************


จาก: หนังสืออภิญญา โดย หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
กสิณ ๓ เป็นบาทของทิพจักขุญาณ

ต่อไปนี้จะได้แนะถึงวิธีปฏิบัติในกสิณ ๓ อย่าง คือ เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ๓ อย่างนี้แต่เพียงพอเป็นทางปฏิบัติ เพื่อบำเพ็ญเพื่อได้ทิพจักขุญาณ แต่ท่านอย่าลืมนะว่าการปฏิบัติกรรมฐานจะต้องหาครูผู้สอน ถ้าทำเองโดยไม่มีใครแนะนำและควบคุมแล้ว ดีไม่ดีจะเกิดสำเร็จเร็วกว่าความเป็นจริง
ตัวอย่างในปัจจุบันมีไม่น้อย พอเห็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็คิดว่าสำเร็จเสียแล้วเลยไม่พบดีกัน
ขณะที่เขียนหนังสือนี้อยู่ มีนักปฏิบัติกลุ่มหนึ่งมาถามว่า "ฉันได้ไปสอบกับครูผู้สอน คุณครูบอกว่าได้องค์ธรรมแล้ว ท่านช่วยตรวจด้วยเถอะว่าฉันได้แค่ไหนแล้ว?" ทำเอาข้าพเจ้างงงันคอแข็งไปเลย ไม่มีแบบมีแผนที่ไหนที่ผู้ปฏิบัติถึงธรรมแล้ว กลับไม่รู้ว่าตัวได้ แปลกมาก ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง เมื่อได้แล้วต้องรู้เอง ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนอื่นช่วยบอก แล้วครูเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าลูกศิษย์ได้ดวงธรรม ในเมื่อเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวสักนิด ข้าพเจ้าได้วินิจฉัยดูเห็นว่า ก. ข. ยังไม่กระดิกหูเลย จึงย้อนถามว่าใครเป็นครู ท่านกลุ่มนั้นก็บอกครูและสำนัก ถามถึงระเบียบการสอนก็บอกให้ทราบ ดูแล้วช่างไม่ถูกไม่ตรงเสียแล้ว เสียดายธรรมของพระพุทธเจ้า สงสารพระพุทธเจ้า อุตส่าห์พร่ำสอนเสียเป็นวรรคเป็นเวร เกือบล้มเกือบตาย แต่ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้เชื่อฟัง กลับเอาลัทธิหลอกลวงมาใช้ แล้วแอบอ้างเอาพระนามของพระองค์มารับรอง น่าสงสารแท้ ๆ ธรรมที่ว่าสอบได้นั้น เขาบอกว่า เห็นดวงเล็กบ้างใหญ่บ้าง เห็นพระบ้าง โธ่! น่าสงสาร ของเท่านี้ยังไกลต่อคำว่าได้อีกหลายล้านเท่า ท่านระวังไว้นะ! ดีไม่ดีจะไปพบครูจระเข้แบบนี้เข้าจะลำบาก

ทิพจักขุญาณนี้ ความจริงแล้วอาจจะได้จากกรรมฐานกองอื่นก็ได้ ไม่เฉพาะกสิณ ๓ อย่างนี้ เมื่อทำสมาธิถึงแล้ว และรู้จักวิธีปฏิบัติแม้กรรมฐานกองอื่นก็ทำทิพจักขุญาณให้บังเกิดได้ แต่ที่แนะนำไว้ในที่นี้ว่าให้ปฏิบัติในกสิณ ๓ ก็เพราะว่ากสิณ ๓ นี้เป็นบาทของทิพจักขุญาณโดยตรง แนะตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็เขียนไปตามท่าน แต่ถ้าใครตามได้คนนั้นก็ได้ทิพจักขุญาณจริง

อาโลกกสิณ กสิณกองนี้ ตามในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า เป็นกสิณที่เหมาะแก่ทิพจักขุญาณที่สุด มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ใดที่เคยเจริญ อาโลกกสิณ มาแต่ชาติก่อน ชาตินี้แม้เพียงแลดูแสงจันทร์หรือแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดช่องฝามาเท่านั้น ก็สำเร็จ"อุคคหนิมิต" ( คือรูปนั้นติดตาแม้หลับแล้วก็ยังเห็นภาพนั้นติดตาติดตาอยู่ เรียกว่า "อุคคหนิมิต" ) และ "ปฏิภาคนิมิต" ( คือ เห็นแสงนั้นสว่างไสวคล้ายแสงดาวประกายพรึก สว่างจ้าเหมือนลืมตาเห็นดวงอาทิตย์ ) ได้ง่ายดาย สำหรับผู้ที่ฝึกหัดใหม่นั้นท่านให้เพ่งดูแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ที่ส่องลงมาตามช่องฝาเป็นแสงกลม ลืมตามองดูแล้วตั้งใจจดจำไว้ว่า แสงที่ส่องลงานั้นเป็นอย่างไร มีรูปคือลักษณะช่องกลมอย่างไร แล้วบริกรรมว่า โอภาโส ๆ หรือจะภาวนาว่า อาโลโก ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จนกว่าภาพนั้นจะติดตา คือ ภาวนาไปด้วย นึกถึงภาพนั้นไปด้วย

เมื่อภาพนั้นติดตาแล้วก็ให้กำหนดใจว่าขอภาพนั้นจงใหญ่ขึ้น เมื่อภาพนั้นใหญ่ขึ้น ก็นึกให้เล็กลง ภาพนั้นก็เล็กลง นึกว่าภาพนี้จงสูงขึ้น ภาพนั้นก็สูงขึ้น นึกว่าขอภาพนี้จงต่ำลง ภาพนั้นก็ต่ำลง อย่างนี้เรียกว่าได้ "อุคคหนิมิต" เป็นอุปจารสมาธิ ถึงอุปจารฌาน ต้องให้ได้จริง ๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรต้องเห็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แม้ไม่มีแสงให้ดูภาพนั้นก็ยังติดตาติดใจอยู่ และเมื่อต้องการจะเห็นภาพนั้นเมื่อไร คือ เมื่อกำลังง่วงต้องการเห็นต้องการบังคับ ก็เห็นได้บังคับได้ เมื่อกำลังเหนื่อย เมื่อหิว เมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ เห็นได้บังคับได้ทุกขณะทุกเวลา จึงชื่อว่า ได้อุคคหนิมิตที่แท้ ต่อไปให้ฝึกอย่างนั้นจนชำนาญ จนได้ "ปฏิภาคนิมิต" คือ เห็นแสงสว่างผ่องใสเป็นแท่งหนาทึบ คล้ายแสงมากองรวมกันอยู่ คล้ายดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ที่มองเห็นในขณะลืมตา อย่างนี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"

เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วก็ชื่อว่าจิตสมควรแก่การที่จะได้ "ทิพจักขุญาณ" เมื่อประสงค์จะเห็นอะไร ให้เพ่งนิมิตนั้นก่อน เมื่อเห็นนิมิตชัดเจนแล้ว ให้กำหนดจิตว่า ขอภาพนิมิตจงหายไป ภาพที่ต้องการจงปรากฏขึ้น เพียงเท่านี้ภาพที่ต้องการก็ปรากฏขึ้น จะเป็นภาพนรก สวรรค์ พรหมโลก หรือ ญาติที่ตายไป และจะเป็นอะไรก็ได้ เมื่อได้แล้วให้ฝึกไว้เสมอ ๆ จะได้ชำนาญและคล่องแคล่วใช้งานได้ทุกขณะ

สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะหัดให้คล่องทั้งลืมตาและหลับตา เพราะจะเป็นประโยชน์มาก เพื่อว่าถ้าเราอยากจะรู้อะไร ในขณะที่คุยกับเพื่อนหรือไปในระหว่างคนมาก ถ้ามัวไปหลับตาอยู่ เขาจะคิดว่าเรานี่ท่าทางคงจะไม่ใคร่ตรง ดีไม่ดีพวกจะพาส่งโรงพยาบาลบ้าเสียก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรฝึกให้คล่องเสียทั้งสองอย่าง ทั้งลืมตาและหลับตา

เอาละนะ! แนะนำไว้แบบเดียวก็พอจะได้ไม่ยุ่ง ทิพจักขุญาณนี้มีประโยชน์มาก เหมาะแก่การพิสูจน์ประวัติต่าง ๆ เช่น พระพุทธบาท ปฐมเจดีย์ หรือเรื่องราวเก่า ๆ ที่สงสัย ถ้าปรารถนาจะรู้แล้วจะรู้ได้เลย ภาพเก่า ๆ จะปรากฏคล้ายดูภาพยนตร์ พร้อมทั้งรู้เรื่องรู้ชื่อคน ชื่อสถานที่ไปในตัวเสร็จ แต่ระวังใช้ให้ถูกทาง อย่านำไปใช้ในทางลามก ถ้าทำอย่างนั้นจะเสื่อมเร็ว
*************************

ทีนี้มาว่ากันถึง " ทิพจักขุญาณ " ทิพจักขุญาณนี่ผมฝึกมาในด้านลัด แต่ผมฝึกจริง ๆ น่ะ ผมฝึกมันหมดไม่ว่าอีท่าไหนผมฟัดหมด กรรมฐาน ๔๐ ท่านถามผมสิ กองไหนที่ผมไม่ได้ไม่มี แล้วมหาสติปัฎฐานสูตรจุดไหนที่ผมไม่ได้ไม่มี ผมทำยังไง ผมทำบ้า ๆ บอ ๆ อย่างที่ผมอธิบายให้ท่านฟัง ผมจะไม่ยอมปล่อยเวลาแม้แต่หนึ่งวินาทีของจิตให้มันว่างจากการคำภาวนาหรือพิจารณา ทำงานเอางานเป็นกรรมฐาน เดินเอาเดินเป็นกรรมฐาน นั่งเอานั่งเป็นกรรมฐาน นอนเอานอนเป็นกรรมฐาน ดูหนังดูภาพยนตร์หรือว่าดูมโหรสพต่าง ๆ ผมเอามโหรสพเป็นกรรมฐาน ฟังเสียงคนพูดฟังเสียงคนร้องเพลง ฟังเสียงดนตรีผมเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นกรรมฐาน เห็นพืชผักเอาเป็นกรรมฐานทั้งหมด เอาเป็นกรรมฐานยังไง ตั้งใจฟังเสียงเป็นสมาธิเป็นสมถะ ใช้จิตพิจารณาว่าคนก็ดีสัตว์ก้ดี ไอ้ที่แสดงมโหรสพกันอยู่ และภาพที่มันเห็นนี่ หรือวัตถะธาตุต่าง ๆ มันเป็น " อนิจจัง " มันเป็นของไม่เที่ยง อย่างพวกนักแสดง
แหม..เวลาออกมาข้างนอกแต่งตัวโก้เป็นเจ้าเป็นนาย คนเป็นขี้ข้าท่าทางหมอบราบคาบแก้วกลัวกันเหลือเกิน ออกกำลังปฏิบัติตามกัน แต่พอเข้าไปในโรง ดีไม่ดีไอ้ตัวนายเป็นลูกไล่ของตัวขี้ข้า นี่มันเที่ยงที่ไหน มันไม่เที่ยง เขาต้องใช้ใจอย่างนี้ ตอนนี้ก็มาพูดกันถึงว่าเราจะเดินสายทิพจักขุญาณค่อย ๆ ว่ากันทีละขั้น ถามว่าท่านจะฝึกมโนมยิทธิหรือ นอนภาวนา นั่งภาวนา เดินภาวนาไปเลย นะมะ พะธะ ว่ากันไปเลย อย่าให้เวลามันว่าง อย่าให้จิตมันว่าง จะได้เลิกกันเสียที ไอ้ความเห็นผิด ไอ้การรู้ผิด ไอ้การเข้าใจผิดน่ะ เลิกกันเสียที ถ้าได้มโนมยิทธิน่ะ เขาแก้อารมณ์กันข้างบนโน่น เขาขึ้นไปเที่ยวกันบนสวรรค์ เที่ยวกันบนพรหม เที่ยวกันบนนิพพาน ถ้าจิตเข้าถึง แล้วแก้อารมณ์มันง่าย ใช้อารมณ์แว๊บเดียวเดี๋ยวเดียวเป็นขั้นนั้นขั้นนี้ไปเลย
ตอนนี้ มาว่าถึงคนที่มีกำลังใจไม่เข้าถึงมโนมยิทธิ มาว่ากันถึงทิพจักขุญาณ ผมสอนไว้แล้วว่า

พุทธัง เมฆนิมิต จิตตัง มะอะอุ
ธัมมัง เมฆนิมิต จิตตัง อุอะมะ
สังฆัง เมฆนิมิตจิตตัง อะมะอุ

นี่เป็นแบบลัด คลุมหมดวิชชา ๘ ที่สมาทานกันนี่ ถ้าทำอันนี้ได้ทำได้หมด เวลาเขาทำเขาทำกันยังไง ให้จับภาพพระพุทธรูปหรือจับภาพพระสงฆ์ เป็นพระใช้ได้หมด เวลาภาวนาไปเดินไป นั่งอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ก็ตาม ภาวนาให้มันติดใจให้มันโผล่ขึ้นมาในใจเสมอ ถ้าจิตเว้นว่างจากอารมณ์อย่างอื่น ให้คำภาวนานี้มันโผล่ขึ้นมาเลย แล้วก็จิตนึกถึงภาพพระให้มันเป็นปกติ นึกเห็นนะ ไม่ใช่พระลอยมา นี่พวกเราที่ยังติดภาพลอยกันอยู่เยอะ ภาพลอยนี่เขาไม่ใช้นะ มันต้องใช้อารมณ์จิตที่เป็นสมาธิ นึกเห็นภาพพระ จะเอาไว้ในอกก็ได้ จะเอาไว้ข้างนอกก็ได้ แต่ผมเองนิยมเอาไว้ในอกหรือว่าในสมอง นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งอยู่ในอกหรืออยู่ในสมอง ถามว่ามันทำยากหรือมันทำง่าย ผมต้องตอบว่ามันไม่ยากถ้าเราแน่ใจซะอย่าง ถ้าเรามีอิทธิบาท ๔ ซะอย่างมันไม่มีอะไรยาก ความเข้มแข็งของจิต ต้องคิดว่าคนอื่นน่ะ เขากินข้าวเราก็กินข้าว เขามีมือ ๆ ละ ๕ นิ้ว เราก็มีมือ ๆ ละ ๕ นิ้ว เขาฟังภาษามนุษย์รู้เรื่องเราก็ฟังภาษามนุษย์รู้เรื่อง เขามีกำลังใจได้เราก็มีกำลังใจได้ นี่..ความท้อแท้มันต้องไม่มี มี " วิริยะ " อยู่ในใจ " จิตตะ " อารมณ์จะไม่ยอมปล่อยคำภาวนา และภาพพระพุทธรูปหรือภาพพระสงฆ์ที่เราจับไว้ " วิมังสา " ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วยว่า โอ้หนอ.. ที่เราภาวนานี่มันถูกหรือไม่ถูก ภาพพระที่เรานึกเข้าไว้นี่มันถูกหรือไม่ถูก เห็นภาพลอยมานี่ต้องใช้ปัญญา สัญญาและปัญญาคู่กัน สัญญาคือจำไว้ว่าครูห้ามยึดถือภาพที่ลอยมาเป็นอันขาด อยากจะมาก็เชิญมา อยากจะไปก็เชิญไป คำภาวนาว่าอย่างไรที่เราเริ่มต้น ใช้อย่างนั้นเป็นปกติ ไม่ยอมเปลี่ยนเด็ดขาด ภาพพระพุทธรูปหรือภาพพระสงฆ์ที่เรากำหนดไว้ภายในอกหรือว่าในสมอง เราจะไม่ยอมให้ภาพนั้นเคลื่อนจากอารมณ์ของจิต ใหม่ ๆ มันก็ลำบากนิดหนึ่งไม่เห็นมันยากเยิกอะไร เอาจริงเอาจังน่ะไม่มีอะไรมันยาก ไอ้ที่ยากน่ะมันคนไม่จริง สักแต่ว่าอยากอย่างนั้น สักแต่ว่าอยากอย่างนี้ ถ้าลงอยากล่ะพัง ไม่ต้องไปนั่งอยากไม่ต้องไปนั่งนึก เอามันเลย จิตปักคิดว่าพระพุทธรูปองค์นี้แหละเราจะถือเป็นอารมณ์สำหรับนึก นึกถึงเมื่อเวลาภาวนา เดินไปเดินมา ไปบิณฑบาตทำกิจการงานทำอะไรก็ตาม คุยอยู่ก็ตาม ว่างนิดจิตนึกถึงภาพพระองค์นั้นภาวนาจิตขึ้นมา
นี่เป็นอันว่า ให้อารมณ์มันติดอย่างนี้จริง ๆ ทีนี้หากบังเอิญภาพพระที่เรานั่ง เรานึกถึงภาพพระนั่งแต่ภาพพระจะกลายเปลี่ยนเป็นนอน เป็นยืน เป็นเดิน จับภาพพระพุทธ ภาพพระพุทธจะหายไปจะกลายเป็นภาพพระสงฆ์อารมณ์จะเสียก็ช่าง จะเป็นพระสีขาว สีดำ สีแดงก็ช่าง เราจับภาพพระให้เป็นภาพพระก็แล้วกัน อิริยาบถท่านจะเปลี่ยน ภาพจากกระแสจะเปลี่ยนไปยังไงก็ช่าง ถ้าจับภาพได้อย่างนี้จริง ๆ ได้ทุกเวลาตามที่เราต้องการ อาการอย่างนั้นจะเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ อารมณ์แห่งทิพจักขุญาณมันก็จะเริ่มเกิด ถ้าภาพนั้นไม่สดสวยน่ะ เป็นภาพธรรมดา ภาพพระพุทธที่เราเคยเห็นก็เป็นภาพพระพุทธรูป บางทีก็เห็นเป็นนั่งบ้างเป็นนอนบ้าง อย่าเอาภาพลอยมานะ เอาใจนึกเห็น อย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนึก เอาจิตนึกเห็นไว้ แล้วอย่าไปอวดวิเศษน่ะว่านั่นเป็นอุปาทานอุปาเทินนะ.. แหม.. อวดดีนี่ไม่ว่า แต่ไอ้อวดเลวนี่สิมันระยำ จำแบบจำแผนเขาไว้ให้ดี ว่าที่เขาได้มานี่เขาทำกันยังไง ถ้าหากว่าเราเก่งจริง ๆ น่ะ ไม่ต้องมาฝึกหรอก มันก็ดีมาตั้งแต่ท้องแม่แล้ว ไอ้ที่เขาทำกันได้เนี่ยเขาทำกันอย่างนี้ ถือว่า แหม..มันเป็นอุปาทานอย่างนั้นอย่างนี้ หูได้ยินเสียงเป็นอุปาทาน ตาที่พึงใจที่เห็นอารมณ์ได้หลับตาแล้วเห็นภาพได้เป็นอุปาทาน มันไม่ใช่อุปาทาน
คำว่า " อุปาทาน " หมายถึงว่า สิ่งที่เราคิดไว้ก่อน เราเห็นไว้ก่อน แล้วเวลาที่ทำสมาธิไป ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันปรากฏขึ้น อย่างกับเคยเห็นภาพเทวดาที่เขาเขียนตามผนังโบสถ์ไม่มีเสื้อ นางฟ้าไม่มีเสื้อ เทวดาไม่มีเสื้อ อารมณ์แว๊บหนึ่งภาพลอยมาเทวดาไม่มีเสื้อ นี่แหละตัวอุปาทาน ไอ้ตัวที่จิตมันยึดอยู่ ถ้าอารมณ์เราเป็นสมาธิจริง ๆ จิตจับภาพพระเป็นปกติ แต่บางขณะจิตหายแว๊บลงไป สิ่งอื่นมันสะดุดขึ้นมาปรากฏในขณะที่จิตเป็นสมาธิ นั่นเป็นของแท้ ไม่ใช่อุปาทานนะ อันนี้พูดกันถึงด้านทิพจักขุญาณก่อน แต่ถ้าหากว่าท่านจะฝึกมโนมยิทธิก็ต้องใช้อารมณ์อย่างนี้ อารมณ์มันต้องใช้เท่ากัน ทั้ง ๔ อย่างนี่บอกแล้ว สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ใช้อารมณ์อย่างเดียวกัน ความเข้มแข็งของจิตเหมือนกัน แต่เว้นไว้แต่จะเลือกทางเดินกันเท่านั้น ทีนี้ ถ้าหากว่าภาพของท่านเข้าถึงอารมณ์อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ จิตเริ่มเป็นทิพย์ จะเริ่มมีอาการไหวตัวขึ้นมาในด้านลักษณะของทิพจักขุญาณ เดี๋ยวก่อน ผมขอพูดต่อไปก่อน ยังไม่อธิบายหรอกตอนนี้ ถ้าต่อไปอาการภาพพระที่เราเห็น มีสภาพผ่องใสจับได้เป็นปกติ คำว่าปกติ นึกภาวนาขึ้นมาเมื่อไหร่ นึกถึงเห็นภาพพระทันที ไม่เสียเวลาแม้แต่หนึ่งวินาที นี่จิตต้องคล่องอย่างนี้นี่ตามวิสุทธิมรรคท่านว่า จิตต้องเป็นนวสี นวสี ก็คือ การคล่อง ถ้าการคล่องอย่างนี้เกิดขึ้น อารมณ์แห่งทิพจักขุญาณสามารถใช้ได้ เริ่มใช้ได้แต่ว่ายังไม่ดี วิธีใช้ทำยังไง ทีนี้วันนี้ผมจะพูดถึงอาการแห่งทิพจักขุญาณที่มันเกิดขึ้นอันดับต้น มันจะเกิดขึ้นแบบนี้ก่อน คือว่า เวลาเรานอนภาวนาไป เวลาภาวนานอนภาวนาจับภาพพระเรื่อยไป พอใกล้จะหลับ มันครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือว่าตื่นขึ้นมาครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่เต็มที่ มันจะเกิดนิมิตแว๊บหนึ่งขึ้นปรากฏ นิมิตนั่นจะเป็นนิมิตอะไรก็ตาม จิตมันจะบอกเลยว่านิมิตอันนี้จะเป็นภาวะอันนั้นเกิดขึ้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้นใจเราต้องเชื่อจุดนี้ทันที อย่าไปคิดตอนหลังไม่ได้ แล้วจุดนั้นมันจะตรง
เอาละ สำหรับวันนี้หมดเวลาแล้ว สวัสดี
*******************


วันนี้ก็จะขอพูดต่อเรื่อง " ทิพจักขุญาณ " ก็โปรดจำไว้ให้ดีนะว่าจะเป็นสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ๔ อย่างนี้ใช้กำลังใจเสมอกัน ถ้าอารมณ์ใจของท่านอ่อนแอพลาดใน " อิทธิบาท ๔ " พลาดใน " บารมี ๑๐ " ผมขอพยากรณ์ไว้เลยว่าไม่มีทางได้อะไรเลย แม้แต่ฌานโลกีย์ก็จะไม่มีในจิตของท่าน เป็นอันว่า เมื่อคืนนี้มาพูดค้างไว้ในด้านทิพจักขุญาณ ว่ากำลังใจของเราเข้าถึงอุปจารสมาธิ สำหรับทิพจักขุญาณนี้อย่าลืมนะครับว่ามีแบบปฏิบัติอยู่มาก สำหรับ" อาทิกัมมิกบุคคล " หมายความว่า คนไม่เคยได้มาในชาติก่อน เพิ่งเริ่มต้นในการกระทำ ตามแบบวิสุทธิมรรคท่านให้ใช้เตโชกสิณ อาโลกกสิณ หรือ โอทาตกสิณเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติให้เกิดทิพจักขุญาณ นี่ว่ากันตามแบบ ถ้าหากว่าตามแบบปฏิบัติก็ถือว่าเราจะใช้อะไรก็ได้มาเป็นกสิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเอาพระพุทธรูปมาเป็นกสิณเราก็ใช้ได้ ถ้าหากว่าเป็นคนที่เคยได้มาแล้วในชาติก่อน เพียงเป็นแต่สร้างอารมณ์จิตให้ถึงอุปจารสมาธิ ทิพจักขุญาณก็เกิด...
ทีนี้สำหรับแนวการปฏิบัติที่ผมแนะนำท่านว่าใช้คำภาวนาว่า

พุทธัง เมฆะนิมิต จิตตัง มะอะอุ
ธัมมัง เมฆะนิมิต จิตตัง อุอะมะ
สังฆัง เมฆะนิมิต จิตตัง อะมะอุ

ถ้าฟังอย่างนี้แล้วบางทีไปคุยกับใครเขา เขาก็จะคิดว่าผมสอนนอกลู่นอกทาง แต่ความจริง อันนี้เขาปฏิบัติกันได้ดีมามากและก็ปฏิบัติได้ผลมาแล้ว ก็เป็นอันว่า ถึงอนุสสติทั้ง ๓ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ แล้วเวลาที่ปฏิบัติต้องใช้อารมณ์เข้มแข็ง การใช้อารมณ์อ่อนแอนี่ไม่ได้ ต้องให้จิตจับภาพพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งไว้เป็นสำคัญ อย่างนี้เราผ่อนกันไม่ได้เลย กำลังใจจุดนี้จะต้องใช้เหมือนกันทั้งพวกฝึกวิชชาสาม อภิญญาหก และ ปฏิสัมภิทาญาณ ใช้กำลังเท่านกัน แม้แต่สายสุกขวิปัสสโกก็เช่นเดียวกัน ใจเสมอกัน แต่ว่าแยกวิธีปฏิบัติเพื่อความรู้พิเศษเท่านั้น สมมติว่าท่านทั้งหลายสามารถทำใจเข้าถึงอุปจารสมาธิ คือ นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ทำอะไรก้๖ม จิตสามารถนึกถึงภาพพระที่ท่านกำหนดไว้ แต่ว่าภาพพระที่ท่านกำหนดไว้โปรดจำไว้ด้วยว่า บางทีเรากำหนดเป็นภาพพระนั่ง ดีไม่ดีนึกเห็นเป็นพระนอนไปเสียแล้ว ไม่ใช่วาดเอาเองนะ ต้องจิตนึกขึ้นมาแล้วเห็นภาพนั้นชัด ถ้าทางที่ดีก็น้อมเอาภาพพระนั้นมาไว้ในอกมันจะดีมาก บางทีเรานึกถึงภาพพระพุทธรูปไว้ พระพุทธรูปกลายเป็นพระสงฆ์ไปเสียแล้ว พระพุทธรูปนั่งกลายเป็นพระสงฆ์ยืน หรือพระสงฆ์นั่ง พระสงฆ์นอน อย่างนี้จงถือว่าใช้ไม่ได้ บางทีเรานึกถึงภาพพระสีเหลืองแต่กลายเป็นสีขาวไปเสียบ้าง เป็นสีคล้ำไปเสียบ้าง อะไรก็ตามใจท่าน ขอให้จิตมันจับไว้ได้ก็แล้วกัน


อันดับแรกนี่เราต้องการเรียกว่า วิปัสสนึก คือ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่นึกเห็นภาพได้ทันที อย่างนี้เขาเรียกว่าสร้างภาพขึ้นในอก ที่อย่างวัดปากน้ำภาษีเจริญที่บอกว่าให้สร้างดวงขึ้นในอกก็แบบเดียวกัน แต่ทีนี้ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถจับเอาภาพพระเข้าไว้ในอกได้ นี่ต้องมีความเข้มแข็งนะ เพราะไอ้ตอนนี้เป็นเรื่องของอภิญญาแล้ว ผมจะไม่พูดแบบที่เรียนปฏิบัติกันมาตามก่อน ๆ ตามสายก่อน ๆ เอากันตรงไปตรงมาต้องให้ได้จริง ๆ เมื่อจิตของท่านสามารถจับภาพพระนี้ได้จริง ๆ จะนึกขึ้นมาเวลาไหนเห็นได้จริง ๆ ไม่ใช่ลอยมานะ อย่าลืม ภาพลอยนี่เขาไม่ใช้ นี่เราใช้กำลังใจของเราให้เป็นทิพย์

ทิพจักขุญาณ แปลว่า ผู้มีความรู้คล้ายตาทิพย์ ไม่ใช่เอาลูกตาไปเป็นทิพย์ มองภาพลอยไปลอยมาอันนี้ใช้ไม่ได้เลย อันนี้เมื่อเราจับภาพนี้ได้ ตอนนี้อารมณ์ทิพจักขุญาณก็เกิด อารมณ์จิตเริ่มเป็นทิพย์แต่ก็เกิดแบบมัว ๆ เพราะอะไร เพราะภาพพระที่เราเห็นน่ะมันชัดหรือไม่ชัด เพราะภาพพระที่เราจับน่ะมันเป็นเครื่องวัดกำลังใจของเราว่าจิตเราเป็นทิพย์แจ่มใสหรือไม่แจ่มใส นี่แล้วเราอย่าเอาเข้าไปเทียบกับพวก " มโนมยิทธิ " เขานะ ทิพจักขุญาณนี่ใช้ได้ผลแต่จะให้คล่องแคล่วแจ่มใสเหมือน " มโนมยิทธิ " นี่ไม่ได้ กำลังยังอ่อนกว่ากันเป็น ๑๐๐ เท่า แต่ทว่ามีผล ผลที่จะพึงได้ คือ พิสูจน์คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทุกจุด ถ้าอารมณ์ของท่านเข้าถึงจุดนี้ อันดับแรกที่อารมณ์ของทิพจักขุญาณมันจะเกิด มันเกิดแบบนี้ก่อน คือว่า เราใช้อารมณ์จริง ๆ ยังไม่ได้ เพราะว่ากำลังจิตยังอ่อนอยู่ เมื่อเรานอนภาวนาไป สมมติว่ามีเรื่องอะไรที่มีการขัดข้องแล้วเราต้องการจะรู้ บันทึกไว้เขียนไว้ หรือนึกไว้ตอนกลางวันก็ได้ แต่อย่าให้เรื่องนั้นมันยุ่งยากนัก เอาเฉพาะจุด เวลาจะนอนเราก็ภาวนาเรื่อยไปจนหลับ ถ้าจับพระได้เป็นปกติ เวลาใกล้จะหลับเวลาครึ่งหลับครึ่งตื่นหรือว่าเวลาตื่น ๆ ไม่เต็มที่ ตอนนี้จะเกิดนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คำว่า นิมิต นี่ผมไม่ได้หมายไม่เจาะจง อาจจะเห็นรูปวัว รูปควาย รูปม้า รูปช้าง สีขาว สีเขียว สีแดง คน อะไรก็ช่างเถอะ! ถ้าเกิดนิมิตอย่างนั้นเกิดขึ้น แต่ว่าขอเตือนอีกนิดหนึ่งว่า ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะรู้เรื่องอะไรก็ตั้งใจไว้เสียก่อนว่า เราต้องการรู้เรื่องนี้ เวลาที่ภาวนาต้องทิ้งอารมณ์นั้นทันที เอาจิตจับเฉพาะคำภาวนาหรือจับภาพพระ พร้อมกันนั้นก็จับลมหายใจเข้าออกไปด้วย ต้องทำให้ได้นะ อันนี้อย่าสักแต่ว่าไม่ได้ สักแต่ว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จับได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างโน้นพลาด อย่างนี้อยู่ไม่ได้แน่ นี่เป็นเรื่องจริงใจ ในเมื่อภาพนิมิตเกิดขึ้นอารมณ์มันจะบอกทันที ว่านิมิตนี้บอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็บันทึกจดเอาไว้ มันจะตรงตามความเป็นจริง นี่หมายความว่าทิพจักขุญาณอย่างอ่อน แล้วถ้าเราไม่ทิ้งอารมณ์นั้น เราทรงอารมณ์ไว้เสมอ อารมณ์จิตเริ่มแจ่มใสขึ้น การจับพระทรงตัวคล่องขึ้น เห็นชัดขึ้น นึกเห็นน่ะไม่ใช่ว่าลอยมาเห็น พวกลอยมาเห็นนี่ใช้ไม่ได้นะ ผมไม่ให้คะแนนเลยเพราะว่าผมปฏิบัติมาแล้ว ผมรู้ว่าอะไรมันดีอะไรไม่ดี คนที่จับภาพลอยนี่เป็นอารมณ์อุปาทาน ภาพลอยนั่นมันเป็นแต่เพียงจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ไม่ได้เห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ แต่ว่าถ้าไปจับคิดว่าเป็นทิพจักขุญาณก็เหลว ไม่ใช่น่ะ คนละเรื่อง นี่น่ะเฝือกันเสียมาก ไอ้เรื่องนี้ นี่หากว่าจิตมันจับอารมณ์มันดีขึ้น ทิพจักขุญาณสูงขึ้น ถ้าเราอยากจะรู้อะไรขึ้นมาเราก็นึกจับภาพพระนั้นก่อน อย่าลืมนะ อันนี้ทิ้งไม่ได้นะ! กำหนดจิตจับคำภาวนาจากภาพพระนั้นก่อน เมื่อเห็นภาพพระจะเป็นภาพพระอะไรก็ช่าง ให้เป็นภาพพระก็แล้วกัน แล้วก็สังเกตดูว่าเราเห็นแจ่มใสหรือไม่แจ่มใส การเห็นภาพพระชัดเจนแค่ใดเราก็เห็นภาพสิ่งที่เราต้องการชัดเจนเท่านั้น สมมติว่าเราอยากจะรู้ว่านาย ก. คนนี้ตายแล้วไปอยู่ที่ไหน จงลืมความประพฤติเขาเสีย ความประพฤติในปัจจุบันหรือก่อนที่เขาจะตาย เขาทำอะไรทำดีทำชั่วอะไรอยู่ที่ไหน ทิ้งอารมณ์เสียให้หมด ถ้าไปเกาะอารมณ์นั้น นั่นแหละอุปาทานมันกิน

สมมติว่าเคยเห็นเขาลักเขาขโมยเขาปล้นเขายื้อแย่งฆ่าปลาฆ่าสัตว์ อารมณ์อย่างนี้นจะบอกตัวเอง อุปาทานบอกว่า นายคนี้จะต้องตกนรก นี่เป็นอุปาทานแน่ คิดว่านานย ก. ก็คือ นาย ก. และนาย ก. จะมีความประพฤติชั่วอะไรไม่สนใจ จับคำภาวนาให้จิตเป็นอุปจารสมาธิหรือเป็นฌาน ให้เป็นเอกัคคตารมณ์อารมณ์ทรงอยู่เสมอ อยู่อย่างเดียวคืออารมณ์ทรงไว้อย่างเดียว คำว่าอย่างเดียวในที่นี้หมายความว่าจับพระได้ จับภาพพระกับคำภาวนาและก็ลมหายใจเข้าออก เห็นภาพพระชัดเท่าไหร่ แล้วก็จงกำหนดไว้ว่า ข้าพเจ้าอยากจะรู้ว่านาย ก. ตอนนี้อยู่ที่ไหน เพียงเท่านี้แหละ ภาพนาย ก. ก็จะปรากฏชัดเจนเท่ากับภาพพระที่เราเห็น นี่เป็นวิธีฝึกใหม่ ๆ นะ ถ้าหากว่าจิตเห็นเขา บังเอิญาเราเห็นเขาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นคนเลว เมากินสุรายาเมา แต่ภาพนั้นกลายเป็นภาพนาย ก. เฉย ๆ เหมือนคนธรรมดาแก่หรือว่าเด็กหรือว่าหนุ่ม ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจงมีความรู้สึกว่า นั่นเป็นภาพเดิมที่นาย ก. แสดงให้เรารู้จัก ยังไม่ใช่ภาพแท้ในปัจจุบัน ต้องกำหนดจิตถามนาย ก. ว่า ( พูดกันด้วยใจนะ เอาใจพูดกัน ตอนนี้เริ่มเป็นทิพย์แล้ว ) ถามว่าปัจจุบันนี้นานย ก. อยู่ที่ไหน แล้วมีสภาพความจริงเป็นยังไง รูปร่างหน้าตา ภาพนาย ก. เดิมก็จะหายไป จะกลายเป็นภาพปัจจุบัน เขาอาจจะเป็นเทวดาก็ได้ เขาอาจจะเป็นพรหมก็ได้ ถ้าท่านจะถามว่าเป็นเทวดาหรือพรหมได้ยังไง ก็เพราะว่าเวลาก่อนที่เขาจะตายน่ะ ใจเขานึกอะไร ดูอย่าง ท่านสุปฏิฐิตเทพบุตร ท่านสร้างกรรมอันลามกทุกอย่างทุกประเภท แต่ว่าก่อนจะตายใจท่านนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชั่วขณะเดียว ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก แล้วฟังพระพุทธเจ้าเทศน์อีกจบเดียวก็ได้พระโสดาบัน ฉะนั้น ก่อนที่อยากจะรู้อะไร อย่าไปสืบประวัติเดิมเขา ไม่ต้องไปสืบ ถ้าขืนสืบอุปาทานมันกิน มันกินตรงไหน นึกถึงภาพเขาฆ่าสัตว์ เราก็นึกว่านาย ก. นี่ต้องลงนรกล่ะ ทีนี้ภาพสัตว์นรกมันก็เกิดน่ะซิ อย่างนี้เขาเรียก " อุปาทาน " จำไว้ให้ดีนะ ว่าคำว่าอุปาทานน่ะใช้กันเฟ้อมาก ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอุปาทาน ถ้าหากว่านาย ก. ลงนรก เราจะเห็นภาพนาย ก. อยู่ในนรก มีโทษประการใด ไฟเผา สรรพาวุธสับฟัน หรือตะกายต้นงิ้ว แย่ก ๆ ๆ หรือว่าตกอยู่ในกระทะทองแดง เราจะเห็นชัดเท่ากับที่เราเห็นภาพพระ นี่ผมถือว่าเป็นอันดับต้น

แต่ทว่าการเห็นอันดับแรกนี่ หากว่าจิตเราทรงฌานไม่ดี บางทีพอนึกจะถาม ภาพนั้นมันหายไปเสียแล้ว พอภาพนั้นหายไป เราก็ตั้งท่าใหม่นึกถึงอารมณ์นั้นจับอารมณ์เดิม พออารมณ์ทรงตัวภาพนั้นก็จะเกิด พอถามคำหนึ่งภาพหายไปเสียอีก นี่เป็นวิธีฝึก แต่ว่าการฝึกนี่ไม่แน่นะ บางคนก็ปรี้ดปร้าดได้ถึงจุดปลายทางเลย นี่ผมพูดตามลักษณะที่จะเกิด ทีนี้ทำยังไง เราจะพูดกันได้ล่ะ ต้องหัดตั้งเวลาที่ผมเคยบอกท่านไว้ว่าตั้งเวลานี่ทำยังไง เวลานี่ใช้แบบง่าย ๆ เอาลูกประคำมาชัก ๑๐๘ ลูก คือ ๑๐๘ จบที่ภาวนา ตอนนี้จับภาพพระไปด้วยใน ๑๐๘ จบนี่เราจะไม่ยอมให้จิตคิดถึงเรื่องอะไรทั้งหมด ถ้ายังไม่ครบ ๑๐๘ จบ ถ้ามันคิดขึ้นมาก่อนมีอารมณ์แทรก ก็เริ่มต้นมันใหม่ ใช้อิทธิบาทเข้าหั่นมันล่ะทีนี้ ใช้อิทธิบาทกับบารมี ๑๐ เข้าหั่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิบาท " ฉันทะ " พอใจ " วิริยะ " เพียรต่อสู้กับอุปสรรค " จิตตะ " เอาจิตเข้าจดจ่อในเหตุนั้น " วิมังสา " ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญไปด้วย ว่าเราภาวนาถูก ภาวนาจบหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ต้องใช้อะไรมาก เราว่ากันถึงฌาน ให้ทรงอารมณ์ให้ ๑๐๘ ใช้อารมณ์เท่าไหร่ แสดงว่าเราทรงสมาธิได้เวลาเท่านั้น เราก็สามารถจะพูดกับผีเทวดา หรือ พรหมเท่าเวลาที่เราเคยทรงไว้ นี่เป็นอันดับต้น และก็ในอันดับต้นนี้จะมีลักษณะแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ เวลานั่งอยู่ คุยอยู่ ทำอะไรอยู่โดยไม่ได้คิดภาวนาเลย แต่จิตเวลานั้นมันจะตกไปอยู่ถึงอุปจารสมาธิพอดี จิตจะมีความรู้สึกว่าเหตุอย่างนั้นเหตุอย่างนี้จะปรากฏ เอ๊ะ! หรือว่าเป็นภาพปรากฏแต่จิต รู้ว่าภาพนี้เป็นเหตุอันนั้นอันนี้ อันนี้ต้องเชื่อทันทีและห้ามคิดห้ามไตร่ตรอง ห้ามใคร่ครวญเอามาแก้ไข หรือว่าถ้าจิตมันพลาดเลยไปจากนั้นแล้วอารมณ์มันไม่ใช่ทิพย์ ไปใคร่ครวญแก้ไขพิจารณามันก็ไม่ถูก นี่อีกประการหนึ่ง บางทีกำลังคุยกับเพื่อน อ่านหนังสือหรือทำงานอยู่มันง่วงนอน ง่วงนอนทนไม่ไหว นั่นแสดงว่าเทวดาหรือพรหมหรือว่าพระท่านจะบอกอะไรแล้ว ก็มันทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องไปนอน พอล้มตัวนอนพั๊บ ภาพนิมิตเกิดจิตบอกทันทีว่าอะไรมันจะมีมา แล้วก็เท่านั้นแหละ อาการง่วงมันจะหายไป แล้วเราก็ต้องเชื่อทันทีว่านี่เหตุนั้นมันจะพึงบังเกิด นี่ว่ากันถึงตอนต้น ๆ นะ อันนี้เราพูดกันละเอียด ๆ หน่อย เพราะว่าจะพูดกันด้านอภิญญาเลยทีเดียวนี่ ผมก็ไม่จำเป็นต้องพูดเพราะใช้กำลังเท่ากัน ไอ้เราก็พูดไว้ทั้ง ๒ อย่างเพราะบางท่านก็มีกำลังใจถึงขั้นมโนมยิทธิเกือบอภิญญา บางท่านมีกำลังใจไม่ถึง แต่ทว่าถ้าใช้กำลังใจแบบนี้แล้วก็ไปฝึกมโนมยิทธิด้วยก็กล้วยเลย
นี่ผมพูดถึงว่าการภาวนาว่า " พุทธัง เมฆนิมิต จิตตัง " แต่บังเอิญท่านไม่เอาอย่างนั้น ท่านไปล่อ " นะมะ พะธะ " เข้ามีหวังใช้ได้เลย แต่ทว่าถ้าจิตเข้าถึงระดับนี้ กำลังจะเริ่มขยับ ๆ มันเรียกว่า " อภิญญา " ยังไม่บินนะ ทำเริ่มไหวตัวนิด ๆ เหมือนกับต้นไม้ที่ถูกลมหน่อย ๆ ทีนี้กำลังจิตของท่านเป็นกำลังจิตของฌาน คำว่า ฌานนี่ผมจะไม่อธิบาย ผมพูดมาจนเหนื่อยแล้ว จิตของฌานอารมณ์มันทรงตัว ผมไม่พูดถึงอุปจารสมาธิเบื้องสูง พออารมณ์มันทรงตัวขึ้นมาหมดความรำคาญ ใจสบาย จับภาพพระได้นานภาพพระแจ่มใสขึ้น แบบนี้เราไม่ต้องไปฝึกแบบกสิณ และก็สามารถจับภาพพระได้สัก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาที ใสชัดขึ้นกว่าเก่า ตอนนี้เราก็ต้องทำให้คล่อง ทางที่ดีเวลาเช้ามืดตื่นขึ้นมา ต้องพยายามเช้ามืดนี่มีเวลาที่มีความสำคัญมาก เพราะตอนหัวค่ำนี่เราเหนื่อยมาตลอดวัน มีภาระ ถึงแม้ว่าไม่มีภาระอะไรอยู่อย่างอื่นมากไม่แบกไม่หาม เราก็ต้องทำโน่นทำนี่ คุยกับคนนั้นคนนี้มีภารกิจ อ่านหนังสือหนังหาจิตใจมันก็เหนื่อยเหมือนกัน ประสาทมันเหนื่อย ฌานนี่ต้องอาศัยกำลังกายเป็นสำคัญนะ อย่าลืม ถ้าหากว่าร่างกายของเรามันทรุดด้านประสาทมันทรุดไปนิดเดียว บางทีเราไม่รู้สึกตัวว่ามันทรุด เห็นมันยังดี ๆ อยู่ แต่อารมณ์มันมัวไปเสียแล้ว นี่ต้องรู้ไว้ด้วยนะ!
แล้วก็ประการที่สอง สำหรับพระ สามเณร พระเป็นอาบัติมันก็มัว ถ้าไม่มีอาบัติมันไม่มัว อันนี้เราจับตัวของเราได้ดี มันจะต้องระมัดระวังเรื่องอาบัติ ถ้าอาบัติใหญ่ล่ะก็พังไปเลย อย่างสังฆาทิเสสนี่ไม่มีหวัง สังฆาทิเสสหรือปาราชิกนี่หมดหวังไปเลย ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ไปถึงปาจิตตีย์นี่มันเริ่มมัว ถ้าเป็นการป้องกันไว้ละก็ เวลาก่อนที่จะสมาทานเรานั่งอยู่กับเพื่อนกัน เราก็บอกว่า วันนี้เราตรวจจิตดูซิ ตั้งแต่ตอนเช้าถึงตอนนี้จิตอารมณืเรามันเสียจุดไหนบ้างในด้านของอาบัติ ถ้ามันเสียเราก็บอกเพื่อนพระ บอกวันนี้จิตผมมัวหมองไปเสียแล้ว ผมเลวไปเสียหน่อยไปละเมิดจุดนั้นจุดนี้เข้า ผมจะพยายามตั้งใจจะไม่ทำอย่างนี้อีก จะไม่พูดอย่างนี้อีก จะไม่คิดอย่างนี้อีก บอกเขาตรง ๆ เป็นภาษาไทย ๆ นั่นแหละ แม้ว่าใจของเราคิดว่าจะระมัดระวังไม่ยอมให้อาการอย่างนี้ที่มันเป็นอาบัติเกิดขึ้น จิตทรงตัวไว้แต่ถ้าเรายังไม่ได้ฌานสมาบัติจริง ๆ มันอดเผลอไม่ได้เป็นของธรรมดา อันนี้ผมไม่ตำหนิแต่ขอให้ท่านตำหนิตัวของท่านเองไว้ว่า เราไม่ยอมพลาดเรื่องอาบัติ

ถ้าวันไหนอาบัติไม่กินวันนั้นแจ่มใส วันไหนไม่เพลียวันนั้นแจ่มใส วันไหนร่างกายไม่ทุพพลภาพหมายความด้านประสาททรงตัว วันนั้นก็แจ่มใส

นี่เวลาเช้ามืดจับภาพพระด้วยคำภาวนาด้วยลมหายใจเข้าออกด้วย ยังไม่ต้องการรู้อะไรทั้งหมด ไอ้การจับภาพใช้คำภาวนากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้มันทรงให้ดี ให้ทรงตัวดีจริง ๆ เมื่อทรงตัวดีจริง ๆ บังเอิญมันสว่างเสียก่อนถึงเวลาบิณฑบาต เอ้า! ก็ไม่ต้องรู้อะไรมันถ้าจิตมันทรงตัวดีจริง ๆ ภาพพระแจ่มใสตามกำลังที่เราพึงได้ อย่างนี้จิตสบายเป็นเอกัคคตารมณ์มีอารมณ์แนบแน่น พอใกล้เวลาที่ต้องออกบิณฑบาต ก็นึกน้อมจิตนึกไปว่า เอ๊ะ! วันนี้ตั้งแต่เช้ายันค่ำ จะมีอะไรมาผ่านเราบ้างหรือเปล่า อารมณ์ที่ถูกใจหรืออารมณ์ที่ไม่ถูกใจมีใครบ้างหนอ ผู้ชายกี่คนผู้หญิงกี่คนที่มาทำให้เราไม่สบายใจ หรือทำให้เราสบายใจ หรือว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น จิตมันก็จะบอกนี่เรียกว่าใช้จิตกันก่อนนะ แต่เนื้อแท้จริง ๆ เขาไม่ใช้จิตนะ ใช้จิตน่ะซวย เขาเอาจิตนึกถึงภาพพระ ถามภาพพระว่าวันนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วอารมณ์ของจิตนั่นแหละมันจะบอกขึ้นมาเอง ถ้าพระท่านบอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็จดไว้ ถ้าจับภาพพระนิมิตแล้วอารมณ์จิตมันก็บอกเข้ามาเองแล้วก็จดไว้ ผมรับรองเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีอะไรผิด

เป็นอันว่า ขอบรรดาท่านทั้งหลายที่มีความประสงค์จะพึงให้ได้ทิพจักขุญาณ นั่นก็คือ ขอให้ท่านทั้งหลายจงใช้กำลังใจของท่านให้มั่นคง เรื่องความมั่นคงของจิตนี่มีความสำคัญมาก เพราะว่าการรักษากำลังใจึงแม้ว่าจะฝึกแบบไหนทั้งหมด ก็มีผลเสมอกัน ตามที่กล่าวมาแล้ว ก็หมายถึงว่ากำลังใจของท่านเข้าสู่อุปจารสมาธิหรือว่าอุปจารฌาน ความจริงทิพจักขุญาณนี่สามารถจะใช้กำลังจิตได้ตั้งแต่อุปจารสมาธิ แต่ทว่าไม่สามารถจะพูดกับเทวดาหรือพรหมหรือว่าใครต่อใครได้ตามอัธยาศัย

**********************************************

(จาก: หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร)

การฝึกจิตเพื่อให้เกิดทิพพจักขุ
ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) คือ ญาณที่ทำให้มองเห็น
- รูปทิพย์ เช่น เทวดา พรหม ผี เปรต อสุรกาย ฯลฯ
- เหตุการณ์ /ความเป็นไป ของสรรพสัตว์ในระยะไกล อดีต ปัจจุบัน อนาคต
- สิ่งลี้ลับต่างๆ
- มองทะลุสิ่งกีดขวางทั้งปวง


1. ฝึกจิตให้ได้สมาธิถึงฌานที่ 4 เป็นอย่างต่ำ เจริญฌานให้ชำนาญด้วยขันธ์ทั้ง 5 ของฌาน จนได้เจโตวสี มีอำนาจทางใจ

2. เจริญกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง 1) เตโชกสิณ (ไฟ) 2) โอทาตกสิณ (สีขาว) 3) อาโลกกสิณ (แสงสว่าง) - เป็นเยี่ยมที่สุด

3. เมื่อได้กสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเตโชกสิณ และโอทาตกสิณพึงเจริญให้ยิ่ง จนปรากฎดวงกสิณเป็นสีขาวใสบริสุทธิ์ก่อน จึงจะฝึกเพื่อทิพพจักขุได้ ถ้าเป็นอาโลกกสิณ เมื่อได้แม้เพียงขั้นอุคคหนิมิตรปรากฎ ก็เป็นแสงใสพอควร เมื่อจิตสงบถึงขั้นอัปปนา ก็จะเป็นแสงใสบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งต้นแห่งทิพพจักขุได้ ต่อนั้นไปพึงฝึกทิพพจักขุ โดยวิธีอธิเทวญาณทัสสนะ คือ

(1) ทำโอภาสให้มีประมาณมาก และทำให้เป็นแสงใสบริสุทธิ์ได้เท่าไหร่ยิ่งดี แผ่รัศมีโอภาสไปเป็นปริมณฑลรอบๆ ตัวให้ได้กว้างขวางที่สุด
(2) สำเหนียกในใจเพื่อเห็นรูปทิพย์ไว้เสมอ เมื่อเห็นแล้วพยายามยั้งอยู่ในสมาธิ ให้เห็นรูปทิพย์ได้นานที่สุดเท่าที่จะนาน พึงศึกษาสำเหนียก เหตุให้สมาธิเคลื่อน แล้วพยายามกำจัดเหตุนั้น

เหตุให้สมาธิเคลื่อน (พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอนุรุทธะ ในอุปักกิเลสสูตร)
1. วิจิกิจฉา ความสงสัย

2. อมนสิการ ความไม่เอาใจใส่
3. ถีนมิทธะ ความท้อแท้ซบเซา

4. ฉัมภิ ตัตตะ ความหวาดสะดุ้ง
5. อุพพิละ ความตื่นเต้น

6. ทุฏฐุลละ ความหยาบกระด้าง
7. อัจจารัทธวิริยะ ความเพียรเกินไป

8. อติลีนวิริยะ หย่อนความเพียรเกินไป
9. นานัตตสัญญา ใส่ใจมากอย่าง

10. อตินิชฌายิตัตตัง รูปานัง เพ่งรูปมากเกินไป

(3) พึงสำเหนียก เพื่อรู้เรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าที่ได้พบเห็นนั้นให้รู้ตลอดอนุโลม ตามวิธีอธิเทวญาณทัสสนะ

อธิเทวญาณทัสสนะ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อคราวประทับตำบลคยาสีสะ ได้ตรัสเล่าวิธีฝึกสมาธิ เพื่ออธิเทวญาณทัสสนะ ไว้ว่า

1) เมื่อพระองค์ยังเป็นโพธิสัตว์ก่อนหน้าตรัสรู้ ได้รู้จักโอภาส (แสงสว่างทางใจ) แต่ไม่เห็นรูปทั้งหลายได้ จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อเห็นรูป
2) เมื่อพากเพียรไป ได้เห็นรูปดั่งพระประสงค์ แต่ไม่สามารถยับยั้งสนทาปราศัยกับเทพเจ้าได้ จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อยับยั้งสนทาปราศัยกับเทพเจ้า
3) เมื่อพากเพียรไป ได้สามารถยับยั้งสนทาปราศัยกับเทพเจ้าได้ แต่ไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมาจากเทพนิกายใด จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ
4) เมื่อพากเพียรไป ได้ทราบเทพเจ้าเหล่านั้นมาจากเทพนิกายนี้ เทพนิกายโน้น สมปรารถนา แต่ไม่ทราบว่าได้เป็นเทพเจ้าด้วยกรรมอะไร จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ
5) เมื่อพากเพียรไป ก็ได้ทราบความมุ่งหมาย ข้อ 4) แต่ยังไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมีอาหารอย่างไร เสวยสุขทุกข์อย่างไร จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ
6) เมื่อพากเพียรไป ได้ทรงทราบตามความมุ่งหมาย ข้อ 5) แต่ยังไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมีอายุเท่าไร จะดำรงอยู่นานเท่าไร จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ
7) เมื่อพากเพียรไป ได้ทรงทราบตามความมุ่งหมาย ข้อ 6) แต่ยังไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นเคยอยู่ร่วมกับพระองค์มาหรือไม่ จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ
8) เมื่อพากเพียรไป ได้ทรงทราบตามความมุ่งหมาย ข้อ 7) สมดังปรารถนา

แล้วตรัสย้ำในที่สุดว่า ภิกษุทั้งหลาย อธิเทวญาณทัสสนะ มีปริวัฏ 8 ประการนี้ ยังไม่บริสุทธิ์ดีเพียงไร เราก็ยังไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงนั้น เมื่อใดอธิเทวญาณทัสสนะ มีปริวัฏ 8 ประการนี้ บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้นเราจึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแจ้งชัด

*** Blogger Ekk - อธิเทวญาณทัสสนะ แปลว่า การรู้การเห็นเทวดาทั้งหลายอันสูงสุด หรือจะแปลตามตัวว่า ญาณทัสสนะที่เป็นไปทับซึ่งเทวดาทั้งหลาย หมายความว่า ญาณทัสสนะอันนี้สูงกว่าเทวดาทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่ง แปลว่า ญาณทัสสนะ อันนี้สามารถที่จะรู้และเห็นแม้กระทั่งเทวดาชั้นสูงสุด ***

4. เพื่อป้องกันมิให้หลงตน ลืมตัว พึงเจริญ อภิภายตนะ 8 ประการ ต่อไปนี้ คือ

1) เมื่อท่านใส่ใจรูปธรรมอันใดอันหนึ่ง ณ ภายในจนจิตใจเป็นหนึ่งจะเกิดเห็นรูปภายนอกเพียงนิดหน่อย ซึ่งมีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้เสมอว่า เราเป็นผู้รู้ เห็นครอบงำรูปเหล่านั้น ดังนี้เสมอไป

2) ทำดังข้อ 1) ได้เห็นรูปภายนอกมากมาย มีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้ดั่งในข้อ 1) เสมอไป

3) เมื่อท่านใส่ใจอรูปธรรมอันใดอันหนึ่ง ณ ภายในจนใจเป็นหนึ่ง เกิดเห็นรูปภายนอกนิดหน่อย มีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้ดั่งในข้อ 1) เสมอไป

4) ทำเหมือนข้อ 3) ได้เห็นรูปภายนอกมากมาย มีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้ดั่งในข้อ 1) เสมอไป

5) - 8) ทำเหมือนข้อ 3) ได้เห็นรูปภายนอก ประกอบด้วยสีต่างๆ คือ เขียว เหลือง แดง ขาว ผ้าสีเขียว เหลือง แดง ขาว และเครื่องประดับสีเขียว เหลือง แดง ขาว แล้วพึงกำหนดใจไว้เสมอไปว่า เรารู้เห็นครอบงำรูปเหล่านั้น ดังนี้ ความหลงตน ลืมตัวก็จะถูกกำจัดไป เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริง สิ่งควรรู้ควรเห็นยิ่งขึ้น ไม่ติดอยู่ในสิ่งได้รู้ได้เห็นนั้นๆ หรือไม่หลงไปว่าสิ่งนั้นๆ เป็นตัว เป็นตนของตน หรือเป็นของๆ ตน

5. เมื่อเจริญกสิณอันเป็นเครื่องนำทิพพจักขุ โดยเฉพาะประการใดประการหนึ่ง จนถึงชั้นฌานที่ 4 ก็ดี เจริญกรรมฐานอันใดอันหนึ่งอื่นๆ จนได้ฌานที่ 4 ก็ได้ นับว่าได้บรรลุภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจแล้ว เมื่อจะน้อมไปเพื่อทิพพจักขุ ต่อไป พึงสำเหนียกก่อนว่า ฌานชั้นที่ 4 นั้น จิตใจใสสะอาดปราศจากราคีแล้ว มีรัศมีสว่างแลเห็นกายและใจตนเองได้ชัดเจน แล้วพึงฝึกแผ่รัศมีสว่างนั้นให้เป็นปริมณฑลออกไปรอบๆ ตัว ให้กว้างขวาง ไกลที่สุดจนสุดขอบจักรวาลได้ยิ่งดี และพึงอยู่ด้วยอาโลกสัญญานั้น ทั้งกลางคืนและกลางวันเนืองๆ ทำใจให้เปิดเผยทุกเมื่อ อย่ายอมให้ความรู้สึกที่ทำใจให้ห่อเหี่ยว มัวซัวมาครอบงำเป็นอันขาด จิตใจเมื่อได้รับอบรมด้วยแสงสว่างอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นใจบริสุทธิ์ผ่องใส มีรัศมีแจ่มใสยิ่ง เปรียบดังแก้วมณีโชติ ฉะนั้น เมื่อนั้นทิพพจักขุอันบริสุทธิ์เกินกว่าจักขุสามัญมนุษย์ก็เกิดขึ้น รู้เห็นอะไรๆ เกินวิสัยสามัญมนุษย์ดังกล่าวมาแล้ว ถ้าปุถุชนได้ทิพพจักขุมักจะลำบาก
เมื่อเห็นสิ่งน่ากลัว เช่น ยักษ์ ใจหวาดสะดุ้งแล้ว สมาธิย่อมเคลื่อน ทิพพจักขุย่อมหายไป ฉะนั้น เมื่อได้แล้วอย่าพึงวางใจ พึงเจริญธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
************

กสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน 3 อย่างนี้ เพื่อทิพพจักขุญาณ

- เตโชกสิณ วงกลมทำด้วยไฟ วิธีทำก่อไฟด้วยฟืนไม้แก่น ให้ลุกโชนเป็นเปลวสีเหลือง เหลืองแก่ และเอาแผ่นหนัง หรือเสื่อลำแพนมาเจาะรูเป็นวงกลม กว้างขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ 4 นิ้ว ตั้งบังกองไฟให้มองเห็นได้โดยช่องวงกลมเท่านั้น

- โอทาตกสิณ วงกลมทำด้วยสีขาว วิธีทำเอาสิ่งที่ขาวสะอาด เช่นดอกบัวขาว ผ้าขาว ฯลฯ มาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ คือ ถ้าเป็นดอกไม้ พึงบรรจุลงในภาชนะที่มีขอบปากกลม วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ 4 นิ้ว ให้เต็มขอบปาก อย่าให้ก้านหรือเกสรปรากฎ ให้แลเห็นแต่สีขาว ถ้าเป็นผ้าพึงขึงกับไม้วงกลม ขนาดนั้นให้ดึงดีๆ อย่าให้ยู่ยี่ ถ้าได้ผ้าขาวเนื้อละเอียดเป็นการเหมาะดี

- อาโลกกสิณ วงกลมแสงสว่าง วิธีทำ เจาะก้นหม้อเป็นรูกลม วัดผ่าศูนย์กลาง คืบ 4 นิ้ว ตามตะเกียงหรือเทียนไว้ภายในหม้อ ให้แสงสว่างส่งออกมาตามรูที่เจาะไว้ และหันทางแสงสว่างนั้นให้ไปปรากฏที่ฝา หรือกำแพงแล้ว เพ่งดูแสงสว่างที่ส่องเป็นลำออกไปจากรูที่ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพงนั้น

วิธีปฏิบัติ
พึงชำระตนให้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาดไปสู่ที่เงียบสงัด ปัดกวาดบริเวณให้สะอาด ตั้งตั่งสูงคืบ 4 นิ้ว สำหรับนั่งอันหนึ่ง สำหรับวางวงกสิณอันหนึ่ง นั่งห่างจากวงกสิณประมาณ 4 ศอก นั่งในท่าที่สบาย วางหน้าให้ตรงทอดตาลงแลวงกสิณพอสมควรแล้ว หลับตานึกดู ถ้ายังจำไม่ได้พึงลืมตาขึ้นดูใหม่ แล้วหลับตานึกดู โดยทำนองนี้ จนกว่าจะเห็นวงกสิณในเวลาหลับตาได้ เมื่อได้แล้วพึงไปนั่งเพ่งดวงกสิณในที่อยู่ให้ชำนาญ จนสามารถทำการขยายดวงกสิณให้ใหญ่และย่นใให้เล็กได้ตามต้องการ เพียงเท่านี้ชื่อว่าสำเร็จกสิณแล้ว จิตใจจะสงบเป็นสมาธิตามลำดับ คือ ชั่วขณะ เฉียดฌาน และเป็นฌาน 1-2-3-4 ตามลำดับไป ในการเลื่อนชั้นของฌานนั้นต้องค่อยๆ เลื่อนไป อย่าด่วนก้าวหน้าในเมื่อฌานที่ได้แล้ว ตนยังไม่ชำนาญในการเข้าออก การยั้งอยู่ การนึกอารมณ์ของฌาน และการพิจารณาองค์ของฌาน จะพลาดพลั้งแล้วจะเสียผลทั้งข้างหน้าข้างหลัง
******************************


จุตูปปาตญาณ - รู้สัตว์เกิดตาย ได้ดี ตกยากด้วยอำนาจกรรม
เกิดจาก ทิพพจักขุญาณ + ยถากัมมูปคตญาณ (รู้ว่าสรรพสัตว์เป็นไปตามกรรมที่เขาทำไว้เอง มิใช่เป็นด้วยอำนาจสิ่งอื่น

วิธีฝึก ให้เจริญตามนัยของการเจริญทิพพจักขุญาณ
*******************************

พระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เส็ง, ป.ธ. 6)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?p=47917&sid=894352c46c4f52182c46f22995732f63

รหัสแห่งภาพนิมิต
http://www.dhamma5minutes.com/webboard.php?id=48&wpid=0019








วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

6. อาสวักขยญาณ

อาสวักขยญาณ
ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้
(เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้)

จาก: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
http://84000.org/tipitaka/dic/

****************
จาก : หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ป.ธ. 6)

อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป
ปรีชาญาณสูงสุด รู้จักมูลเหตุของทุกข์ถูกถ้วน และรูจักวิธีทำให้สิ้นไปอย่างเด็ดขาด เป็นความรู้สามารถปลดปล่อยจิตให้ หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส และกรรม บรรลุถึงภูมิที่มีอิสรภาพทางจิตใจเต็มที่ มีเอกราชโดยสมบูรณ์ ถึงความเป็นไทยอย่างเต็มเปี่ยม

ความรู้ชั้นนี้จัดเป็นพระพุทธปรีชาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้จะก้าวขึ้นสู่ภูมิพระพุทธปรีชาสูงสุดนี้ได้ ต้องผ่านการเจริญวิปัสสนาญาณมาตามลำดับขั้นอย่างละเอียดละออที่เรียกว่า เจริญญาณทัสสนะ

*** Blogger Ekk - ควรศึกษาเพิ่มเติมเรื่องวิปัสสนาญาณ 9, วิสุทธิ 7, อารมณ์ของวิปัสสนา, อริยสัจ 4, ปฏิจจสมุปบาท ***

อาสวะ แปลความตรง ๆ ก็คือ ธรรมชาติที่หมักดองจิตใจ ทำให้จิตใจแปรสภาพเป็นสิ่งเศร้าหมองบูดเหม็น เป็นทุกข์เดือดร้อน ท่านจำแนกไว้เป็น 4 ประการดังนี้

1. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฐิ ได้แก่ความเห็นเป็นเหตุให้ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอัตตาตัวตน เป็นแก่นสาร ทิฐิที่ทำให้เป็นเหตุยึดถือตัวตนนั่นคือ ภวทิฐิ ส่วนฝ่ายหนึ่งเห็นไม่มีอัตตา เห็นว่าไม่ดีแน่ เห็นเป็นของขาดสูญ ตายแล้วสิ้นเรื่อง เรียกว่า วิภวทิฐิ 2 ประการนี้เป็นไปเพื่อความก่อทุกข์ จึงจัดเป็นความเห็นผิดอันควรกำจัด เมื่อเจริญวิปัสสนาเห็นขันธ์ 5 โดยไตรลักษณ์เมื่อใด ทิฐิเช่นนี้จะถูกกำจัด

2. กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ความคิดในกามารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัสกาย) ที่เรียกว่ากามราคะบ้าง กามฉันทะบ้าง มีความพอใจติดพัน ความลุ่มหลงในกามวัตถุ ครั้นไม่สมหวังหรือได้สิ่งไม่พึงใจ ย่อมเกิดความโกรธแค้นขุ่นข้องหน่ายแหนง ถ้าสมหวังก็เพลิดเพลินมัวเมาจนหลงลืมตัว ความรู้สึกทั้ง 2 ฝ่ายนี้แลเรียก กามาสวะ เป็นเครื่องหมักดองจิตใจให้เศร้าหมอง ความพออกพอใจในกามารมณ์สามัญทั่วไปมีลักษณะให้อาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ตนพอใจนั้น ๆ

3. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ภวราคะ ความพอใจอาลัยในภพ คือภาวะที่เป็นนั้น ๆ ภายในจิตใจของตนที่เรียกว่า รูปราคะ ความติดใจในรูป ฌาน แสดงตัวออกเป็นกิเลสอย่างหยาบคือ ภวตัณหา ทะยานอยากไปเกิดในภพที่พอใจ อย่างกลางคือ โสมนัส ความดีใจเมื่อสมหวัง โทมนัส ความเสียใจเมื่อไม่สมหวัง อย่างละเอียด คืออุเบกขาสุขในฌาน และมานะถือตัว

4. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา คือความไม่รู้ หรือความรู้ไม่แจ่มแจ้ง ซึ่งสิ่งนั้น ๆ เป็นเหตุให้หลงและสำคัญผิด เข้าใจผิด เห็นผิดไปต่าง ๆ แสดงออกเป็นกิเลสอย่างหยาบ คือ มิจฉาทิฐิต่าง ๆ และวิภวตัณหา อยากดับสูญไม่เกิดอีกโดยความเข้าใจผิดไปว่า ตายแล้วสิ้นเรื่องเพียงนั้น อย่างกลางคือ... อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน อย่างละเอียด คือ อุทธัจจะ ความฟุ้งของจิต หรือความสะเทือนใจตื่นเต้นในธรรม คือภาวะที่เป็นไปในจิตชั้นสูงที่ท่านเรียกว่า ธรรมอุทธัจจะ และตัวอวิชชาเอง
************

วิธีเจริญวิปัสสนา
...จะกล่าวโดยทางปฏิบัติจริงๆ สืบไป
วิธีเจริญวิปัสสนา มี 2 วิธี คือ
(1) เจริญวิปัสสนาอย่างพิสดาร เพื่อญาณทัสสนะหรือทิพยอำนาจหลายประการตามแต่จะประสงค์
(2) เจริญวิปัสสนาอย่างลัดตัดตรง เพื่ออาสวักขัยโดยส่วนเดียว จะอธิบายวิธีทั้งสองนี้ไว้พอเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

(1) เจริญวิปัสสนาอย่างพิสดาร*
(* ประมวลวิธีที่อาจเป็นได้สำหรับผู้มีบารมีใหญ่และอุตสาหะมากเท่านั้น มิใช่วิธีที่จะสาธารณะแก่ผู้บำเพ็ญทุกๆ คน)


วิธีเจริญวิปัสสนาแบบนี้ ผู้เจริญมุ่งหมายให้มีความรู้ความเห็นแตกฉานหลายด้านหลายมุม หรือมุ่งให้มีทิพยอำนาจหลายประการ เพื่อเป็นเครื่องมือใช้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นในเมื่อบรรลุถึงประโยชน์สูงสุดสำหรับตนแล้ว จึงดำเนินการวิปัสสนาอย่างกว้างขวางละเอียดละออเป็นขั้นๆ ไป คือ


1) เจริญสมาธิให้ถึงฌานมาตรฐาน คือ ฌานที่ 4 เป็นอย่างต่ำ ให้ช่ำชองชำนิชำนาญในฌานอย่างยิ่ง เพื่อเป็นฐานในการเจริญญาณทัสสนะ และทิพยอำนาจนั้นๆ อย่างดี


2) เพื่อป้องกันมิให้หลงตนลืมตัว ในเมื่อพบเห็นอะไรๆ อันเป็นส่วนภายนอกที่มาปรากฏในมโนทวารในขณะนั้นๆ พึงเจริญ อภิภายตนะ 8 ประการ ดังกล่าวแล้วในบทว่าด้วยทิพพจักขุญาณ


3) เพื่อป้องกันคความเห็นผิดอันเป็นเหตุยึดถือในอัตตา พึงเจริญยถาภูตญาณทัสสนะ ดังนี้
เข้าฌานถึงขั้นที่ 4 แล้ว พิจารณากายอันปรากฏแก่ญาณจักษุในขณะนั้นให้เห็นตามเป็นจริงว่า เกิดจากสัมภวธาตุของบิดามารดาผสมกัน มีกรรมเป็นเหตุ มีวิญญาณธาตุเข้าถือปฏิสนธิ แล้วเจริญเติบโตจนคลอดออกมาอาศัยอาหารหล่อเลี้ยง อาศัยอายตนะ แะผัสสะปรนปรือจึงดำรงสืบต่อกันไป เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เป็นของเปื่อยเน่าผุพังไม่จิรังยั่งยืน เป็นทุกข์บีบคั้น ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใครๆ คือตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เสมอ เมื่อรู้เห็นอยู่โดยนัยนี้ อัตตานุทิฏฐิก็ไม่มีที่อาศัย ชื่อว่าได้กำจัดทิฏฐาสวะให้ตกไป


4) เจริญทิพยอำนาจประการนั้นๆ ดังกล่าวมาในข้อว่าด้วยการเจริญทิพยอำนาจนั้นๆ แล้ว จนได้ความรู้เหตุผลต้นปลายของสิ่งทั้งหลาย และมีทิพยอำนาจตามความประสงค์ มีตนเองเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ดี


5) เจริญเพื่อปฏิสัมภิทา 4 ประการ คือทำการกำหนดพิจารณารู้ความจริงแห่งธรรม อันเป็นไปอยู่ ปรากฏอยู่ในภายใน
คือ:
(1) ความย่อหย่อนของจิต
(2) ความสงบอยู่ภายในของจิต
(3) ความฟุ้งไปภายนอกของจิต
(4) เวทนาที่เสวยอยู่ กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(5) สัญญาที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(6) วิตกที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(7) นิมิต คือเครื่องหมายในธรรมทั้งหลาย ได้แก่ สบาย ไม่สบาย เลว ประณีต ดำ ขาว พร้อมด้วยส่วนเปรียบของนิมิตนั้นๆ

ทำการกำหนดรู้ใส่ใจใคร่ครวญ สอบสวนทวนดูจนรู้ทะลุปรุโปร่งแล้วทุกประการ จะเกิดปฏิสัมภิทาญาณ 4 ประการ คือ
ก. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในธรรม คือตัวเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายและหลักธรรมนั้นๆ
ข. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในอรรถ คือตัวผลของเหตุปัจจัย ได้แก่ สิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย และความหมายที่แน่นอนของหลักธรรมนั้นๆ
ค. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในสภาวะและภาษาที่จะใช้บัญญัติสภาวะนั้นๆ ให้ได้ความแน่ชัดตายตัวลงไป เป็นที่ฟังเข้าใจกันได้ในหมู่ชนชาติภาษาเดียวกัน
ฆ. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในการกล่าวธรรมโดยปฏิภาณ คือความผ่องแผ้วของจิตใจสามารถมองเห็นเหตุผล และความจริงได้ว่องไวทันทีทันใด

6) เจริญเพื่ออาสวักขยญาณ คือเข้าฌานชั้นใดชั้นหนึ่ง ตั้งแต่ฌานที่ 1 ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ถ้าได้) แล้วพิจารณาสิ่งที่ถึงความเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ในฌานนั้นๆ ให้เห็นโดยไตรลักษณะอย่างถี่ถ้วน เห็นแล้วเห็นอีก จนจิตวางอุปทานในสิ่งนั้นๆ ได้ ก็ชื่อว่าบรรลุถึงอาสวักขยญาณ จะรู้ขึ้นในขณะนั้นเองว่าสิ้นชาติ สิ้นภพ จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำอีกแล้ว เฉพาะสมาบัติสองประการ คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น เป็นสมาบัติประณีตเกินไป จะเจริญวิปัสสนาภายในสมาบัตินั้นไม่ได้ ท่านว่าพึงเข้าและออกเสียก่อน ในลำดับที่ออกจากสมาบัตินั้น จิตใจยังอยู่ในลักษณะสงบผ่องใส คล้ายยังอยู่ในฌาน พึงรีบทำการเจริญวิปัสสนาทันที โดยยกเอาสัญญาเป็นเครื่องกำหนดนั้นมาเป็นอารมณ์ หรือสิ่งใดๆ มาปรากฏแก่จิตใจในขณะออกจากฌานใหม่ๆ นั้น ก็พึงยกเอาสิ่งนั้นๆ มาพิจารณาโดยไตรลักษณ์ ให้เห็นชัดแจ้งแล้วๆ เล่าๆ จิตใจก็จะถอนความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงได้.


*******************
วิธีเจริญวิปัสสนาอย่างลัด

วิธีวิปัสสนาแบบนี้ ผู้ปฏิบัติมุ่งทำลายอาสวะให้เด็ดขาดเลยทีเดียว ไม่พะวงถึงคุณสมบัติพิเศษส่วนอื่นๆ โดยเชื่อว่าถ้ามีวาสนาเคยสั่งสมอบรมมา เมื่อบรรลุถึงอาสวักขัยแล้ว คุณสมบัตินั้นๆ จะมีมาเองตามสมควรแก่วาสนาบารมี และเชื่อว่าคุณสมบัติพิเศษนั้นเป็นผลรายทางของการปฏิบัติ เมื่อเดินตามทางอย่างรีบลัดตัดตรงไปถึงที่สุดแล้ว ก็จะต้องได้คุณสมบัตินั้นๆ บ้างพอสมควร ไม่จำเป็นต้องไปห่วงใยให้เสียเวลา รีบรุดหน้าไปสู่เป้าประสงค์สูงสุดทีเดียว มีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) อาศัยสมาธิชั้นใดชั้นหนึ่ง เป็นฐานทำการพิจารณาอารมณ์ของวิปัสสนาไปตามลำดับๆ จนได้ความรู้กระจ่างแจ้งในอารมณ์นั้นๆ เป็นอย่างๆ ไป

**** สมาธิที่มีกำลังเพียงพอ คือฌานที่ ๔ ถ้าต่ำกว่านั้นจะมีกำลังอ่อน จะไม่เห็นเหตุผลแจ่มชัด จะเป็นความรู้กวัดแกว่ง ไม่มีกำลังพอจะกำจัดอาสวะได้

**** ผู้มีภูมิสมาธิชั้นต่ำ พึงทำการเข้าสมาธิสลับกับการพิจารณาเรื่อยไปจึงจะได้ผล อย่ามีแต่พิจารณาหน้าเดียว จิตจะฟุ้งในธรรมเกินไป แล้วจะหลงสัญญาตัวเองว่าเป็นวิปัสสนาญาณไป

(๒) ตีด่านสำคัญให้แตกหัก คือทำการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็นที่อาศัยของอาสวะนั้นให้เห็นแจ้งชัดโดยไตรลักษณ์ แจ่มแล้วแจ่มอีกเรื่อยไปจนกว่าจะถอนอาลัยในขันธ์ ๕ ได้เด็ดขาด จิตใจจึงจะมีอำนาจเหนือขันธ์ ๕ รู้เท่าทันขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง อาสวะก็ตั้งไม่ติด จิตใจก็บรรลุถึงความมีอิสระเต็มเปี่ยม ชื่อว่าบรรลุ

อาสวักขยญาณด้วยประการฉะนี้

*****************************************

วิธีการเจริญอาสวักขยญาณอย่างรวบยอด สำหรับผู้ปฏิบัติจริงๆ คือ

เข้าฌานอันเป็นที่ตั้งของวิปัสสนา ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดผ่องแผ้ว แล้วกำหนดสำเหนียกสิ่งที่ปรากฏในจิตใจขณะนั้นโดยไตรลักษณ์ เมื่อเกิดความรู้เห็นโดยไตรลักษณ์แจ่มแจ้งขึ้น จิตก็ผ่องแผ้วพ้นอาสวะทันที

**** การสำเหนียกพิจารณา"ในฌาน" เช่นนี้ จะเป็นไปโดยอาการสุขุมประณีตแผ่วเบา ไม่รู้สึกสะเทือนทางประสาทเลย ไม่เหมือนการคิดการอ่านโดยปกติธรรมดา ซึ่งต้องใช้ประสาทสมองเป็นเครื่องมือ

**** ฉะนั้นผู้ปฏิบัติพึงทุ่มเทกำลังใจลงในการเจริญฌานมาตรฐาน ให้ได้หลักฐานทางจิตใจก่อนแล้ว จึงสำเหนียกไตรลักษณ์ดังกล่าวแล้ว "จะสำเร็จผลเร็วกว่าวิธีใดๆ "


*************************
กิเลสอันเป็นเหตุผูกมัดสัตว์ไว้ในวัฏสงสาร ๑๐ ประการ ท่านเรียกว่า ‘สังโยชน์ ๑๐’ พึงกำหนดรู้ลักษณะไว้สำหรับเป็นเครื่องพิจารณาว่าละได้แล้วหรือยัง ดังต่อไปนี้...

๑. สักกายทิฐิ ความเห็นผิดในกายของตนเองที่แยกออกเป็นห้าส่วนว่า เป็นอัตตาตัวตน หรือว่าตน สิ่งเหล่านั้นหมายความว่ายังไม่เห็นอนัตตา ยังติดอัตตาอยู่

๒. วิจิกิจฉา ความลังเล ความไม่แน่ใจว่าพระนิพพานมีจริงหรือไม่ เป็นเหตุให้สองจิตสองใจ ไม่กล้าปฏิบัติทางพระนิพพานอย่างจริงจัง โดยใจความก็ได้แก่ยังไม่เห็นอนัตตาแน่ชัดนั่นเอง

๓. สีลัพพตปรามาส ข้อนี้แยกเป็น ๒ บท คือ ‘สีลวัตตะ’ บทหนึ่ง ‘ปรามาสะ’ บทหนึ่ง

สีลวัตตะนั้น ท่านแยกออกเป็นสองอีกคือ เป็น ‘ศีลอันใด วัตรอันนั้น’ อย่างหนึ่ง ‘ศีลอันใดไม่ใช่วัตรอันนั้น’ หนึ่ง ศีล ๕ นั้นเป็นศีลอันใดวัตรอันนั้น คือเป็นศีลด้วยเป็นวัตรด้วย ส่วนอริยมรรคข้ออื่นเช่นสัมมาสติ ไม่ใช่ศีลอันใดวัตรอันนั้น คือเป็นแต่วัตรไม่ใช่ศีล

คำว่าปรามาสะนั้นแปลว่า การลูบคลำหรือการคลำหา หมายความว่ายังคว้าจับไม่ถึงซึ่งศีลและวัตร ยังเคว้งคว้างอยู่ พระโสดาละยังโยชน์ข้อนี้ไม่ใช่ละศีลละวัตร ท่านละการลูบคลำศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลด้วยนั้น หมายความว่าท่านไม่ต้องถือศีล ๕ อีก เพราะท่านมีศีล ๕ แล้ว และไม่ต้องไปแสวงหามรรคธรรมในศาสนาอื่นอีก รู้ว่าทางที่จะดำเนินขึ้นสู่อริยผลเบื้องบนแล้ว เป็นแต่จะบำเพ็ญขึ้นไปอีกเท่านั้น

๔. กามราคะ ความกำหนัดในกามคุณ ติดใจในกามารมณ์อื่น ๆ เพราะความอยากได้ใคร่ดีในอารมณ์นั้น ๆ

๕. ปฏิฆะ ความคับแค้นใจ หงุดหงิดใจเนื่องด้วยอารมณ์น่าโกรธเคือง บางแห่งเรียกความพยาบาทก็มี

๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันเป็นอารมณ์ของจิตใจสูง

๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม อันเป็นอารมณ์ของจิตใจชั้นสูง

๘. มานะ ความสำคัญตนผิดไปจากความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงความเคยชินที่เคยถือมาตั้งแต่เดิมเหลือติดอยู่ ท่านเปรียบเหมือนผ้าฟอกแล้วจากสิ่งโสโครก แต่กลิ่นยังอยู่ที่ผ้าต้องอบให้หมดกลิ่นอีกชั้นหนึ่ง

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่สงบราบคาบเป็นเหตุเห็นธรรมไม่แจ่มแจ้ง ความตื่นเต้นสะเทือนใจในภาวะของจิตบางประการ ตลอดจนถึงความมุ่งมั่นพยายามเร่งจะก้าวหน้าเลื่อนชั้นขึ้นไป อุทธัจจะในสังโยชน์ไม่เหมือนอุทธัจจะที่เป็นนิวรณ์

๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ไม่แจ่มแจ้ง ซึ่งสิ่งทั้งหลาย เป็นเหตุให้หลงและสำคัญผิดไปจากความเป็นจริง



สังโยชน์ข้อ ๑-๓ พระโสดาบันละขาดได้ พระสกิทาคามีละสังโยชน์ทั้ง ๓ ได้ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงได้ด้วยสังโยชน์ ๑-๕ พระอนาคามีละได้เด็ดขาดนับสังโยชน์ทั้ง ๑๐ พระอรหันต์ก็ละได้ทั้งหมด...

ความจริงเมื่ออริยมรรคญาณเกิดขึ้น กำจัดกิเลสส่วนใจแล้ว อริยผลย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ ให้หยั่งรู้ว่ากิเลสส่วนนั้นจะไม่งอกขึ้นอีก เมื่อบรรลุอาสวักขยญาณแล้ว ย่อมเกิดญาณหยั่งรู้ขึ้นเองในลำดับถึงความสิ้นชาติ จบพรหมจรรย์ คือปฏิบัติมรรคเสร็จแล้ว

ดังนี้ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เองไม่ต้องถามใคร!


********************************
หนังสือสำหรับอ้างอิง ค้นคว้า มี 5 เล่มนี้

1) อภิญญา โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
2) คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) (ซื้อหนังสือได้จากวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี)
3) ทิพยอำนาจ ของ พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6) (ซื้อได้จากร้านที่จำหน่ายหนังสือของโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย)

4) คัมภีร์วิสุทธิมรรค โดย พระพุทธโฆษาจารย์ (ซื้อได้จากร้านที่จำหน่ายหนังสือของโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย)
ฉบับออนไลน์
http://www.watnai.org/live/index.php?option=com_content&view=section&id=10&Itemid=77

5) วิมุตติมรรค โดย พระเทพโสภณ(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

http://www.mcu.ac.th/ebooks/Show_bookdetail.php
(พิมพ์ คำว่า วิมุตติมรรค ในช่องค้นหา แล้วดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ได้)


************************
link อ้างอิง

อภิญญาปฏิบัติ
http://www.palungjit.com/smati/apinya6/apinya10.htm


คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน
http://www.palungjit.com/smati/books/index.php?cat=2


การที่จะได้ทิพจักขุญาณจะต้องถึงฌาน ๔
http://www.palungjit.com/smati/books/search.php


อัชฌาสัยฉฬภิญโญ
http://www.luangporruesi.com/345.html


อภิญญา เล่ม ๑ - ๒ โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
http://www.palungjit.com/smati/books/index.php?cat=3


หลวงพ่อพระราชพรหมยานแนะนำการฝึกอภิญญาหก
http://board.palungjit.com/f23/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81-94432.html


อิทธิวิธิฤทธิ์ต่างๆ-อธิบายอภิญญาโดยละเอียด
http://board.palungjit.com/f4/อิทธิวิธิฤทธิ์ต่างๆ-อธิบายอภิญญาโดยละเอียด-152219.html

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553