อาสวักขยญาณ
ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้
(เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้)
จาก: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
http://84000.org/tipitaka/dic/
****************
จาก : หนังสือทิพยอำนาจ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ป.ธ. 6)
อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป
ปรีชาญาณสูงสุด รู้จักมูลเหตุของทุกข์ถูกถ้วน และรูจักวิธีทำให้สิ้นไปอย่างเด็ดขาด เป็นความรู้สามารถปลดปล่อยจิตให้ หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส และกรรม บรรลุถึงภูมิที่มีอิสรภาพทางจิตใจเต็มที่ มีเอกราชโดยสมบูรณ์ ถึงความเป็นไทยอย่างเต็มเปี่ยม
ความรู้ชั้นนี้จัดเป็นพระพุทธปรีชาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้จะก้าวขึ้นสู่ภูมิพระพุทธปรีชาสูงสุดนี้ได้ ต้องผ่านการเจริญวิปัสสนาญาณมาตามลำดับขั้นอย่างละเอียดละออที่เรียกว่า เจริญญาณทัสสนะ
*** Blogger Ekk - ควรศึกษาเพิ่มเติมเรื่องวิปัสสนาญาณ 9, วิสุทธิ 7, อารมณ์ของวิปัสสนา, อริยสัจ 4, ปฏิจจสมุปบาท ***
อาสวะ แปลความตรง ๆ ก็คือ ธรรมชาติที่หมักดองจิตใจ ทำให้จิตใจแปรสภาพเป็นสิ่งเศร้าหมองบูดเหม็น เป็นทุกข์เดือดร้อน ท่านจำแนกไว้เป็น 4 ประการดังนี้
1. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฐิ ได้แก่ความเห็นเป็นเหตุให้ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอัตตาตัวตน เป็นแก่นสาร ทิฐิที่ทำให้เป็นเหตุยึดถือตัวตนนั่นคือ ภวทิฐิ ส่วนฝ่ายหนึ่งเห็นไม่มีอัตตา เห็นว่าไม่ดีแน่ เห็นเป็นของขาดสูญ ตายแล้วสิ้นเรื่อง เรียกว่า วิภวทิฐิ 2 ประการนี้เป็นไปเพื่อความก่อทุกข์ จึงจัดเป็นความเห็นผิดอันควรกำจัด เมื่อเจริญวิปัสสนาเห็นขันธ์ 5 โดยไตรลักษณ์เมื่อใด ทิฐิเช่นนี้จะถูกกำจัด
2. กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ความคิดในกามารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัสกาย) ที่เรียกว่ากามราคะบ้าง กามฉันทะบ้าง มีความพอใจติดพัน ความลุ่มหลงในกามวัตถุ ครั้นไม่สมหวังหรือได้สิ่งไม่พึงใจ ย่อมเกิดความโกรธแค้นขุ่นข้องหน่ายแหนง ถ้าสมหวังก็เพลิดเพลินมัวเมาจนหลงลืมตัว ความรู้สึกทั้ง 2 ฝ่ายนี้แลเรียก กามาสวะ เป็นเครื่องหมักดองจิตใจให้เศร้าหมอง ความพออกพอใจในกามารมณ์สามัญทั่วไปมีลักษณะให้อาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ตนพอใจนั้น ๆ
3. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ภวราคะ ความพอใจอาลัยในภพ คือภาวะที่เป็นนั้น ๆ ภายในจิตใจของตนที่เรียกว่า รูปราคะ ความติดใจในรูป ฌาน แสดงตัวออกเป็นกิเลสอย่างหยาบคือ ภวตัณหา ทะยานอยากไปเกิดในภพที่พอใจ อย่างกลางคือ โสมนัส ความดีใจเมื่อสมหวัง โทมนัส ความเสียใจเมื่อไม่สมหวัง อย่างละเอียด คืออุเบกขาสุขในฌาน และมานะถือตัว
4. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา คือความไม่รู้ หรือความรู้ไม่แจ่มแจ้ง ซึ่งสิ่งนั้น ๆ เป็นเหตุให้หลงและสำคัญผิด เข้าใจผิด เห็นผิดไปต่าง ๆ แสดงออกเป็นกิเลสอย่างหยาบ คือ มิจฉาทิฐิต่าง ๆ และวิภวตัณหา อยากดับสูญไม่เกิดอีกโดยความเข้าใจผิดไปว่า ตายแล้วสิ้นเรื่องเพียงนั้น อย่างกลางคือ... อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน อย่างละเอียด คือ อุทธัจจะ ความฟุ้งของจิต หรือความสะเทือนใจตื่นเต้นในธรรม คือภาวะที่เป็นไปในจิตชั้นสูงที่ท่านเรียกว่า ธรรมอุทธัจจะ และตัวอวิชชาเอง
************
วิธีเจริญวิปัสสนา
...จะกล่าวโดยทางปฏิบัติจริงๆ สืบไป
วิธีเจริญวิปัสสนา มี 2 วิธี คือ
(1) เจริญวิปัสสนาอย่างพิสดาร เพื่อญาณทัสสนะหรือทิพยอำนาจหลายประการตามแต่จะประสงค์
(2) เจริญวิปัสสนาอย่างลัดตัดตรง เพื่ออาสวักขัยโดยส่วนเดียว จะอธิบายวิธีทั้งสองนี้ไว้พอเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
(1) เจริญวิปัสสนาอย่างพิสดาร*
(* ประมวลวิธีที่อาจเป็นได้สำหรับผู้มีบารมีใหญ่และอุตสาหะมากเท่านั้น มิใช่วิธีที่จะสาธารณะแก่ผู้บำเพ็ญทุกๆ คน)
วิธีเจริญวิปัสสนาแบบนี้ ผู้เจริญมุ่งหมายให้มีความรู้ความเห็นแตกฉานหลายด้านหลายมุม หรือมุ่งให้มีทิพยอำนาจหลายประการ เพื่อเป็นเครื่องมือใช้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นในเมื่อบรรลุถึงประโยชน์สูงสุดสำหรับตนแล้ว จึงดำเนินการวิปัสสนาอย่างกว้างขวางละเอียดละออเป็นขั้นๆ ไป คือ
1) เจริญสมาธิให้ถึงฌานมาตรฐาน คือ ฌานที่ 4 เป็นอย่างต่ำ ให้ช่ำชองชำนิชำนาญในฌานอย่างยิ่ง เพื่อเป็นฐานในการเจริญญาณทัสสนะ และทิพยอำนาจนั้นๆ อย่างดี
2) เพื่อป้องกันมิให้หลงตนลืมตัว ในเมื่อพบเห็นอะไรๆ อันเป็นส่วนภายนอกที่มาปรากฏในมโนทวารในขณะนั้นๆ พึงเจริญ อภิภายตนะ 8 ประการ ดังกล่าวแล้วในบทว่าด้วยทิพพจักขุญาณ
3) เพื่อป้องกันคความเห็นผิดอันเป็นเหตุยึดถือในอัตตา พึงเจริญยถาภูตญาณทัสสนะ ดังนี้
เข้าฌานถึงขั้นที่ 4 แล้ว พิจารณากายอันปรากฏแก่ญาณจักษุในขณะนั้นให้เห็นตามเป็นจริงว่า เกิดจากสัมภวธาตุของบิดามารดาผสมกัน มีกรรมเป็นเหตุ มีวิญญาณธาตุเข้าถือปฏิสนธิ แล้วเจริญเติบโตจนคลอดออกมาอาศัยอาหารหล่อเลี้ยง อาศัยอายตนะ แะผัสสะปรนปรือจึงดำรงสืบต่อกันไป เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เป็นของเปื่อยเน่าผุพังไม่จิรังยั่งยืน เป็นทุกข์บีบคั้น ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใครๆ คือตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เสมอ เมื่อรู้เห็นอยู่โดยนัยนี้ อัตตานุทิฏฐิก็ไม่มีที่อาศัย ชื่อว่าได้กำจัดทิฏฐาสวะให้ตกไป
4) เจริญทิพยอำนาจประการนั้นๆ ดังกล่าวมาในข้อว่าด้วยการเจริญทิพยอำนาจนั้นๆ แล้ว จนได้ความรู้เหตุผลต้นปลายของสิ่งทั้งหลาย และมีทิพยอำนาจตามความประสงค์ มีตนเองเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ดี
5) เจริญเพื่อปฏิสัมภิทา 4 ประการ คือทำการกำหนดพิจารณารู้ความจริงแห่งธรรม อันเป็นไปอยู่ ปรากฏอยู่ในภายใน
คือ:
(1) ความย่อหย่อนของจิต
(2) ความสงบอยู่ภายในของจิต
(3) ความฟุ้งไปภายนอกของจิต
(4) เวทนาที่เสวยอยู่ กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(5) สัญญาที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(6) วิตกที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(7) นิมิต คือเครื่องหมายในธรรมทั้งหลาย ได้แก่ สบาย ไม่สบาย เลว ประณีต ดำ ขาว พร้อมด้วยส่วนเปรียบของนิมิตนั้นๆ
ทำการกำหนดรู้ใส่ใจใคร่ครวญ สอบสวนทวนดูจนรู้ทะลุปรุโปร่งแล้วทุกประการ จะเกิดปฏิสัมภิทาญาณ 4 ประการ คือ
ก. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในธรรม คือตัวเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายและหลักธรรมนั้นๆ
ข. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในอรรถ คือตัวผลของเหตุปัจจัย ได้แก่ สิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย และความหมายที่แน่นอนของหลักธรรมนั้นๆ
ค. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในสภาวะและภาษาที่จะใช้บัญญัติสภาวะนั้นๆ ให้ได้ความแน่ชัดตายตัวลงไป เป็นที่ฟังเข้าใจกันได้ในหมู่ชนชาติภาษาเดียวกัน
ฆ. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในการกล่าวธรรมโดยปฏิภาณ คือความผ่องแผ้วของจิตใจสามารถมองเห็นเหตุผล และความจริงได้ว่องไวทันทีทันใด
6) เจริญเพื่ออาสวักขยญาณ คือเข้าฌานชั้นใดชั้นหนึ่ง ตั้งแต่ฌานที่ 1 ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ถ้าได้) แล้วพิจารณาสิ่งที่ถึงความเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ในฌานนั้นๆ ให้เห็นโดยไตรลักษณะอย่างถี่ถ้วน เห็นแล้วเห็นอีก จนจิตวางอุปทานในสิ่งนั้นๆ ได้ ก็ชื่อว่าบรรลุถึงอาสวักขยญาณ จะรู้ขึ้นในขณะนั้นเองว่าสิ้นชาติ สิ้นภพ จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำอีกแล้ว เฉพาะสมาบัติสองประการ คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น เป็นสมาบัติประณีตเกินไป จะเจริญวิปัสสนาภายในสมาบัตินั้นไม่ได้ ท่านว่าพึงเข้าและออกเสียก่อน ในลำดับที่ออกจากสมาบัตินั้น จิตใจยังอยู่ในลักษณะสงบผ่องใส คล้ายยังอยู่ในฌาน พึงรีบทำการเจริญวิปัสสนาทันที โดยยกเอาสัญญาเป็นเครื่องกำหนดนั้นมาเป็นอารมณ์ หรือสิ่งใดๆ มาปรากฏแก่จิตใจในขณะออกจากฌานใหม่ๆ นั้น ก็พึงยกเอาสิ่งนั้นๆ มาพิจารณาโดยไตรลักษณ์ ให้เห็นชัดแจ้งแล้วๆ เล่าๆ จิตใจก็จะถอนความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงได้.
*******************
วิธีเจริญวิปัสสนาอย่างลัด
วิธีวิปัสสนาแบบนี้ ผู้ปฏิบัติมุ่งทำลายอาสวะให้เด็ดขาดเลยทีเดียว ไม่พะวงถึงคุณสมบัติพิเศษส่วนอื่นๆ โดยเชื่อว่าถ้ามีวาสนาเคยสั่งสมอบรมมา เมื่อบรรลุถึงอาสวักขัยแล้ว คุณสมบัตินั้นๆ จะมีมาเองตามสมควรแก่วาสนาบารมี และเชื่อว่าคุณสมบัติพิเศษนั้นเป็นผลรายทางของการปฏิบัติ เมื่อเดินตามทางอย่างรีบลัดตัดตรงไปถึงที่สุดแล้ว ก็จะต้องได้คุณสมบัตินั้นๆ บ้างพอสมควร ไม่จำเป็นต้องไปห่วงใยให้เสียเวลา รีบรุดหน้าไปสู่เป้าประสงค์สูงสุดทีเดียว มีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) อาศัยสมาธิชั้นใดชั้นหนึ่ง เป็นฐานทำการพิจารณาอารมณ์ของวิปัสสนาไปตามลำดับๆ จนได้ความรู้กระจ่างแจ้งในอารมณ์นั้นๆ เป็นอย่างๆ ไป
**** สมาธิที่มีกำลังเพียงพอ คือฌานที่ ๔ ถ้าต่ำกว่านั้นจะมีกำลังอ่อน จะไม่เห็นเหตุผลแจ่มชัด จะเป็นความรู้กวัดแกว่ง ไม่มีกำลังพอจะกำจัดอาสวะได้
**** ผู้มีภูมิสมาธิชั้นต่ำ พึงทำการเข้าสมาธิสลับกับการพิจารณาเรื่อยไปจึงจะได้ผล อย่ามีแต่พิจารณาหน้าเดียว จิตจะฟุ้งในธรรมเกินไป แล้วจะหลงสัญญาตัวเองว่าเป็นวิปัสสนาญาณไป
(๒) ตีด่านสำคัญให้แตกหัก คือทำการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็นที่อาศัยของอาสวะนั้นให้เห็นแจ้งชัดโดยไตรลักษณ์ แจ่มแล้วแจ่มอีกเรื่อยไปจนกว่าจะถอนอาลัยในขันธ์ ๕ ได้เด็ดขาด จิตใจจึงจะมีอำนาจเหนือขันธ์ ๕ รู้เท่าทันขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง อาสวะก็ตั้งไม่ติด จิตใจก็บรรลุถึงความมีอิสระเต็มเปี่ยม ชื่อว่าบรรลุ
อาสวักขยญาณด้วยประการฉะนี้
*****************************************
วิธีการเจริญอาสวักขยญาณอย่างรวบยอด สำหรับผู้ปฏิบัติจริงๆ คือ
เข้าฌานอันเป็นที่ตั้งของวิปัสสนา ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดผ่องแผ้ว แล้วกำหนดสำเหนียกสิ่งที่ปรากฏในจิตใจขณะนั้นโดยไตรลักษณ์ เมื่อเกิดความรู้เห็นโดยไตรลักษณ์แจ่มแจ้งขึ้น จิตก็ผ่องแผ้วพ้นอาสวะทันที
**** การสำเหนียกพิจารณา"ในฌาน" เช่นนี้ จะเป็นไปโดยอาการสุขุมประณีตแผ่วเบา ไม่รู้สึกสะเทือนทางประสาทเลย ไม่เหมือนการคิดการอ่านโดยปกติธรรมดา ซึ่งต้องใช้ประสาทสมองเป็นเครื่องมือ
**** ฉะนั้นผู้ปฏิบัติพึงทุ่มเทกำลังใจลงในการเจริญฌานมาตรฐาน ให้ได้หลักฐานทางจิตใจก่อนแล้ว จึงสำเหนียกไตรลักษณ์ดังกล่าวแล้ว "จะสำเร็จผลเร็วกว่าวิธีใดๆ "
*************************
กิเลสอันเป็นเหตุผูกมัดสัตว์ไว้ในวัฏสงสาร ๑๐ ประการ ท่านเรียกว่า ‘สังโยชน์ ๑๐’ พึงกำหนดรู้ลักษณะไว้สำหรับเป็นเครื่องพิจารณาว่าละได้แล้วหรือยัง ดังต่อไปนี้...
๑. สักกายทิฐิ ความเห็นผิดในกายของตนเองที่แยกออกเป็นห้าส่วนว่า เป็นอัตตาตัวตน หรือว่าตน สิ่งเหล่านั้นหมายความว่ายังไม่เห็นอนัตตา ยังติดอัตตาอยู่
๒. วิจิกิจฉา ความลังเล ความไม่แน่ใจว่าพระนิพพานมีจริงหรือไม่ เป็นเหตุให้สองจิตสองใจ ไม่กล้าปฏิบัติทางพระนิพพานอย่างจริงจัง โดยใจความก็ได้แก่ยังไม่เห็นอนัตตาแน่ชัดนั่นเอง
๓. สีลัพพตปรามาส ข้อนี้แยกเป็น ๒ บท คือ ‘สีลวัตตะ’ บทหนึ่ง ‘ปรามาสะ’ บทหนึ่ง
สีลวัตตะนั้น ท่านแยกออกเป็นสองอีกคือ เป็น ‘ศีลอันใด วัตรอันนั้น’ อย่างหนึ่ง ‘ศีลอันใดไม่ใช่วัตรอันนั้น’ หนึ่ง ศีล ๕ นั้นเป็นศีลอันใดวัตรอันนั้น คือเป็นศีลด้วยเป็นวัตรด้วย ส่วนอริยมรรคข้ออื่นเช่นสัมมาสติ ไม่ใช่ศีลอันใดวัตรอันนั้น คือเป็นแต่วัตรไม่ใช่ศีล
คำว่าปรามาสะนั้นแปลว่า การลูบคลำหรือการคลำหา หมายความว่ายังคว้าจับไม่ถึงซึ่งศีลและวัตร ยังเคว้งคว้างอยู่ พระโสดาละยังโยชน์ข้อนี้ไม่ใช่ละศีลละวัตร ท่านละการลูบคลำศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลด้วยนั้น หมายความว่าท่านไม่ต้องถือศีล ๕ อีก เพราะท่านมีศีล ๕ แล้ว และไม่ต้องไปแสวงหามรรคธรรมในศาสนาอื่นอีก รู้ว่าทางที่จะดำเนินขึ้นสู่อริยผลเบื้องบนแล้ว เป็นแต่จะบำเพ็ญขึ้นไปอีกเท่านั้น
๔. กามราคะ ความกำหนัดในกามคุณ ติดใจในกามารมณ์อื่น ๆ เพราะความอยากได้ใคร่ดีในอารมณ์นั้น ๆ
๕. ปฏิฆะ ความคับแค้นใจ หงุดหงิดใจเนื่องด้วยอารมณ์น่าโกรธเคือง บางแห่งเรียกความพยาบาทก็มี
๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันเป็นอารมณ์ของจิตใจสูง
๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม อันเป็นอารมณ์ของจิตใจชั้นสูง
๘. มานะ ความสำคัญตนผิดไปจากความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงความเคยชินที่เคยถือมาตั้งแต่เดิมเหลือติดอยู่ ท่านเปรียบเหมือนผ้าฟอกแล้วจากสิ่งโสโครก แต่กลิ่นยังอยู่ที่ผ้าต้องอบให้หมดกลิ่นอีกชั้นหนึ่ง
๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่สงบราบคาบเป็นเหตุเห็นธรรมไม่แจ่มแจ้ง ความตื่นเต้นสะเทือนใจในภาวะของจิตบางประการ ตลอดจนถึงความมุ่งมั่นพยายามเร่งจะก้าวหน้าเลื่อนชั้นขึ้นไป อุทธัจจะในสังโยชน์ไม่เหมือนอุทธัจจะที่เป็นนิวรณ์
๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ไม่แจ่มแจ้ง ซึ่งสิ่งทั้งหลาย เป็นเหตุให้หลงและสำคัญผิดไปจากความเป็นจริง
สังโยชน์ข้อ ๑-๓ พระโสดาบันละขาดได้ พระสกิทาคามีละสังโยชน์ทั้ง ๓ ได้ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงได้ด้วยสังโยชน์ ๑-๕ พระอนาคามีละได้เด็ดขาดนับสังโยชน์ทั้ง ๑๐ พระอรหันต์ก็ละได้ทั้งหมด...
ความจริงเมื่ออริยมรรคญาณเกิดขึ้น กำจัดกิเลสส่วนใจแล้ว อริยผลย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ ให้หยั่งรู้ว่ากิเลสส่วนนั้นจะไม่งอกขึ้นอีก เมื่อบรรลุอาสวักขยญาณแล้ว ย่อมเกิดญาณหยั่งรู้ขึ้นเองในลำดับถึงความสิ้นชาติ จบพรหมจรรย์ คือปฏิบัติมรรคเสร็จแล้ว
ดังนี้ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เองไม่ต้องถามใคร!
********************************
หนังสือสำหรับอ้างอิง ค้นคว้า มี 5 เล่มนี้
1) อภิญญา โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
2) คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) (ซื้อหนังสือได้จากวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี)
3) ทิพยอำนาจ ของ พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง, ป.ธ. 6) (ซื้อได้จากร้านที่จำหน่ายหนังสือของโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย)
4) คัมภีร์วิสุทธิมรรค โดย พระพุทธโฆษาจารย์ (ซื้อได้จากร้านที่จำหน่ายหนังสือของโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย)
ฉบับออนไลน์ http://www.watnai.org/live/index.php?option=com_content&view=section&id=10&Itemid=77
5) วิมุตติมรรค โดย พระเทพโสภณ(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
http://www.mcu.ac.th/ebooks/Show_bookdetail.php
(พิมพ์ คำว่า วิมุตติมรรค ในช่องค้นหา แล้วดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ได้)
************************
link อ้างอิง
อภิญญาปฏิบัติ
http://www.palungjit.com/smati/apinya6/apinya10.htm
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน
http://www.palungjit.com/smati/books/index.php?cat=2
การที่จะได้ทิพจักขุญาณจะต้องถึงฌาน ๔
http://www.palungjit.com/smati/books/search.php
อัชฌาสัยฉฬภิญโญ
http://www.luangporruesi.com/345.html
อภิญญา เล่ม ๑ - ๒ โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
http://www.palungjit.com/smati/books/index.php?cat=3
หลวงพ่อพระราชพรหมยานแนะนำการฝึกอภิญญาหก
http://board.palungjit.com/f23/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81-94432.html
อิทธิวิธิฤทธิ์ต่างๆ-อธิบายอภิญญาโดยละเอียด
http://board.palungjit.com/f4/อิทธิวิธิฤทธิ์ต่างๆ-อธิบายอภิญญาโดยละเอียด-152219.html
วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น