วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

กรรม ๑๒ ประเภท

กรรม ๑๒ ประเภท

(จาก : หนังสือวิสุทธิมรรค แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชาวอินเดีย แบ่งกรรมไว้ ๑๒ ประเภท)

กรรมให้ผลตามกาลเวลา
๑. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือ ให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไป

กรรมให้ผลตามหน้าที่
๕. ชนกกรรม กรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว
๖. อุปตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือชนกกรรมแต่งดีส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมแต่ง
ให้ชั่วก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวาง กรรมเดินคอยเบียนชนกกรรม เช่นเดิมแต่งมาดีเบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่วเบียนให้ดี
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรม แต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย หรือเดิม ชนกกรรมแต่งไว้เลวมากกลับทีเดียวเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐี

กรรมให้ผลตามความหนักเบา
๙. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาณ กรรมฝ่ายชั่ว เช่น ทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้
๑๐. พหุลกรรม/ อาจิณณกรรม กรรมที่ทำจนชิน
๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรมย่อมส่งผลให้ไปสู๋ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์อาจจะทำด้วยความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกันในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว

*********


กรรม ๑๒ ประเภท
(จาก มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ภาค ๒ หน้า ๑๓๑,
วิสุทธิมรรคปัญญานิทเทส หน้า ๒๒๓ วศ. และทิพยอำนาจ โดยพระอริยคุณาธาร [เส็ง ปุสฺโส])


กรรมจัดตามหน้าที่ มี ๔

๑. ชนกกรรม - กรรมที่ก่อให้เกิด หรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่างๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนกกรรมนี้เป็นผลของอาจิณกรรม บ้างของอาสันนกรรมบ้าง

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่สามารถแต่งกำเนิดของสัตว์ในไตรโลก มี ๔ คือ:-
(๑) ชลาพุชะ เกิดจากน้ำสัมภวะของมารดาบิดาผสมกันเกิดเป็นสัตว์ในครรภ์ แล้วคลอดออกมาเป็นเด็ก แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับกาล ฝ่ายดีได้แก่กำเนิดมนุษย์ ฝ่ายไม่ดีได้แก่กำเนิดดิรัจฉานบางจำพวก
(๒) อัณฑชะ เกิดเป็นฟองไข่ก่อน แล้วจึงเกิดเป็นตัว ออกจากกะเปาะฟองไข่ แล้วเจริญเติบโตโดยลำดับกาล ฝ่ายดีได้แก่กำเนิดดิรัจฉานมีฤทธิ์ เช่น นาค ครุฑ ประเภทอัณฑชะฝ่ายชั่วได้แก่กำเนิดดิรัจฉาน เช่น นกสามัญทั่วไป ฯลฯ
(๓) สังเสทชะ เกิดจากสิ่งโสโครกเหงื่อไคล ฝ่ายดีเช่น นาค และครุฑ ประเภทสังเสทชะฝ่ายชั่ว เช่น กิมิชาติ มีหนอน ที่เกิดจากน้ำครำ เป็นต้น และเรือด ไร หมัด เล็น ที่เกิดจากเหงื่อไคลหมักหมม เป็นต้น
(๔) อุปปาติกะ เกิดผุดขึ้นเป็นวิญญูชนทีเดียว ฝ่ายดีเช่น เทพเจ้า ฝ่ายชั่วเช่น สัตว์นรก เปรต อสุรกาย กรรมดีแต่งกำเนิดดี กรรมชั่วแต่งกำเนิดชั่ว นี้เป็นกฎแห่งกรรมที่ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป

๒. อุปถัมภกกรรม - กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่คอยสนับสนุนกรรมอื่น ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกัน กรรมดีสนับสนุนกรรมดี กรรมชั่วสนับสนุนกรรมชั่ว เช่น กรรมดีแต่งกำเนิดดีแล้ว กรรมดีอื่นๆ ก็ตามมาอุดหนุนส่งเสริมให้ได้รับความสุขความเจริญยิ่งขึ้น กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมชั่วอื่นๆ ก็ตามมาอุดหนุนส่งเสริมให้ได้รับทุกข์เดือดร้อนในกำเนิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น หาตัวอย่างที่เป็นจริงมาแสดงไม่ได้

๓. อุปปีฬกกรรม - กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพลาลง

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรรมอื่นที่ต่างฝ่ายกับตน คอยเบียดเบียนทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีกำลังอ่อนลง ให้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นกรรมดีแต่งกำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว กรรมชั่วเข้ามาขัดขวางรอนอำนาจของกรรมดีนั้นลง ทำให้เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ หรือขาดความสุขในความเป็นมนุษย์ ที่ควรจะได้ไป ในฝ่ายชั่วก็นัยเดียวกัน เช่น กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมดีเข้ามาขัด ถึงเป็นสัตว์ ก็มีผู้เมตตากรุณาเลี้ยงดูมิให้ได้ความลำบาก เป็นต้น.

๔. อุปฆาตกรรม หรือ อุปัจเฉทกกรรม - กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรรมอื่น ที่ต่างฝ่ายกับตน เช่นข้อก่อน (อุปปีฬกกรรม) แต่มีกำลังแรงกว่า สามารถเข้ากำจัดกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ให้ขาดสะบั้นลง มิให้อำนวยผลสืบไปแล้วตนเข้าแทนที่ให้ผลเสียเอง ตัวอย่างในฝ่ายอกุศล เช่น กรรมดีแต่งกำเนิดในมนุษย์มาแล้ว กรรมฝ่ายชั่วที่มีกำลังเข้าสังหาร เช่นไปทำกรรมร้ายแรงในปัจจุบัน หรือกรรมชั่วร้ายแรงในอดีตตามมาทันเข้าให้ผลแทนที่ คนนั้นเสียความเป็นมนุษย์ไปในทันทีทันใด กลายร่างไปเป็นยักษ์หรือดิรัจฉานไปเลย หรือเพศเปลี่ยนไป เช่น เดิมเป็นบุรุษเพศ กลายเป็นสตรีเพศไป ดังโสเรยเศรษฐีบุตร ฉะนั้น ในฝ่ายกุศล กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมดีเข้าสังหาร กำลังของกรรมทรามนั้นให้สิ้นกระแสลงแล้วเข้าแทนที่ ให้ผลเสียเอง เช่น เปรตได้รับส่วนบุญ แล้วพ้นภาวะเปรต กลายเป็นเทวดาทันทีทันใด เป็นต้น.


กรรมจัดตามแรงหนักเบา มี ๔

๕. ครุกรรม - กรรมหนัก ฝ่ายดีหมายถึงฌาน วิปัสสนา มรรคผล ฝ่ายชั่วหมายถึงอนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่ามารดา, ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อโลหิต, ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่หนักมาก สามารถให้ผลทันทีทันใด ฝ่ายกุศล ได้แก่ ฌานสมาบัติที่ท่านเรียกว่า อนันตริกกรรม ฝ่ายอกุศล ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ มีม่ามารดาบิดา เป็นต้น บุคคลจะทำกรรมชั่วมามากมายสักเพียงไรก็ตาม ถ้ารู้สึกสำนึกตัวแล้ว กลับตัวทำความดี มีความสามารถทำใจให้สงบ เป็นสมาธิ และเป็นฌานสมาบัติได้แล้ว กรรมนี้จะแสดงผลเรื่อยๆ ไป ตั้งแต่บัดนั้นจนกว่าจะสิ้นกระแสลง กรรมอื่นๆ จึงจะได้ช่องให้ผล บุคคลทำกรรมดีไว้มากมายแล้ว สมควรจะได้มรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งในชาติปัจจุบัน แต่ไปเสวนะกับคนพาลเกิดประมาท ทำความชั่วร้ายแรงขึ้น เช่น ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่ามารดาบิดา เป็นต้น กรรมนี้จะเข้าให้ผลทันทีทันใด อุปนิสัยแห่งมรรคผลก็เป็นอันพับไป ต้องเสวยผลกรรมชั่วนั้นไปจนกว่าจะสิ้นกำลัง กรรมอื่นๆ จึงจะมีช่องให้ผลสืบไป

๖. อาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม - กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือ ทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่ทำมากจนชิน เป็นอาจิณ เป็นกรรมหนักรองครุกรรมลงมา สามารถให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ในเมื่อไม่มีครุกรรม เช่น บุคคลบำเพ็ญทาน หรือรักษาศีล หรือ เจริญภาวนา มีเมตตาภาวนา เป็นต้น เป็นอาจิณ แต่ไม่ถึงกับได้ฌานสมาบัติ กรรมดีนี้จะเป็นปัจจัยมีกำลังในจิตอยู่เสมอ สามารถให้ผลสืบเนื่องไปนาน ถ้าบุคคลผู้นั้นไม่ประมาทในชาติต่อๆ ไป ทำเพิ่มเติมเป็นอาจิณอยู่เรื่อยๆ กรรมดีก็จะให้ผลทวีและสืบเนื่องเรื่อยๆ ตัดโอกาสของกรรมอื่นๆ เสียได้ ในฝ่ายอกุศลก็นัยเดียวกัน เช่น พรานเนื้อ หรือชาวประมงทำปาณาติบาตเป็นนิตย์ ถึงแม้ไม่หนักหนาเท่าครุกรรม แต่เพราะเป็นกรรมติดเนื่องกับสันดานมาก จึงสามารถอำนวยผลได้ ท่านยกตัวอย่าง เช่น คนฆ่าโคขายเนื้อทุกวัน เวลาจะตายร้องอย่างโค พอสิ้นใจก็ไปนรกทันที คนฆ่าสุกรขายเป็นอาชีพ เวลาจะตายร้องอย่างสุกร พอขาดใจก็ไปนรกเช่นเดียวกัน

๗. อาสันนกรรม - กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอานุภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรืออทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนั้นเป็นอารมณ์เมื่อจวนตาย

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่ทำเวลาใกล้ตาย แม้จะมีกำลังเพลาก็ได้ช่องให้ผลก่อนกรรมอื่น ในเมื่อไม่มีครุกรรม และ พหุลกรรม ตัวอย่างในฝ่ายดี เช่น พวกสำเภาแตก ได้สมาทานศีลก่อนหน้ามรณะเพียงเล็กน้อย ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ มีนามว่า สตุลลปายิกาเทวา ในฝ่ายอกุศล เช่น ภิกษุรูปหนึ่งในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องอาบัติเพราะพรากภูตคาม คือทำใบตะไคร่น้ำขาด ประมาทว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย ไม่แสดงทันที ต่อมาไม่นาน เกิดอาพาธ พอใกล้มรณะก็นึกขึ้นได้ว่า ตนมีอาบัติติดตัวจะแสดงก็หาภิกษุรับแสดงไม่ได้ เสียใจตายไป ได้ไปเกิด ในกำเนิดนาค มาในพุทธกาลนี้ได้ฟังพระธรรมเทศนา และตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถ้ามิใช่เพราะอยู่ในกำเนิดดิรัจฉานแล้วจะบรรลุภูมิพระโสดาบัน ในครั้งฟังพระธรรมเทศนานั้นทีเดียว เพราะมีกุศลได้สั่งสมมามากพอสมควร
ในคราวประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกเรื่อง พระนางมัลลิกาเทวี
มเหสีของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล เป็นคนมีศรัทธาในพระศาสนาของพระบรมศาสดา ต่อมาพลั้งพลาด
ในศีลธรรมเล็กน้อย พระสวามีต่อว่ากลับโกหกและหาอุบายลวง และด่าพระสวามีด้วย ต่อมามินานเกิดประชวร ทิวงคตได้ไปสู่นรกถึง ๗ วัน จึงได้ไปสวรรค์ อาสันนกรรมสำคัญเช่นนี้ คนโบราณจึงนิยมให้พระไปให้ศีลคนป่วยหนัก หรือบอกพระอรหังให้บริกรรม เพื่อช่วยให้ได้ไปสู่สุคติบ้าง.


๘. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม - กรรมสักแต่ว่าทำ คือ ทำโดยไม่เจตนา

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่เพลาที่สุด ทำด้วยเจตนาอ่อนๆ แทบจะว่าไม่มีเจตนา เช่น การฆ่ามดแมลงของเด็กๆ ที่ทำด้วยความไม่เดียงสา ไม่รู้ว่าเป็นบาปกรรม ในฝ่ายกุศลก็เช่นกัน เช่นเด็กๆ ที่ไม่เดียงสา แสดงคารวะต่อพระรัตนตรัยตามที่ผู้ใหญ่สอนให้ทำ เด็กจะทำด้วยเจตนาอ่อนที่สุด จึงชื่อว่า สักว่าทำ ถ้าไม่มีกรรมอื่นให้ผลเลย กรรมชนิดนี้ก็จะให้ผลได้บ้าง แต่ไม่มากนัก มีทางจะเป็นอโหสิกรรมได้มากกว่าที่จะให้ผล เพราะกำลังเพลามาก.


กรรมจัดตามกาลที่ให้ผล มี ๔

๙. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)]
เป็นกรรมที่สามารถให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ที่เรียกว่าให้ผลทันตา โดยมากเป็นกรรมประเภทประทุษร้าย
ผู้ทรงคุณ เช่น มารดาบิดา พระอรหันต์ แม้แต่เพียงการด่าว่าติเตียนท่านผู้ทรงคุณเช่นนั้น ก็เป็นกรรมที่แรง
สามารถห้ามมรรคผลนิพพานได้ ที่ท่านเรียกว่า อริยุปวาทกรรม การเบียดเบียนสัตว์ ทรมานสัตว์บางจำพวก
ก็มักให้ผลในปัจจุบันทันตาเหมือนกัน เช่น การเบียดเบียนแมว เป็นต้น ส่วนฝ่ายกุศลที่สามารถให้ผลในปัจจุบันทันตา น่าจะได้แก่พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ดั่งที่ตรัสไว้ ในสามัญญผลสูตรว่า

" ผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้

(๑) ได้รับการอภิวาทกราบไหว้
(๒) ได้รับการยกเว้นภาษีอากรจากรัฐบาล
(๓) ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล
(๔) ได้รับปัจจัยที่เขาถวายด้วยศรัทธา เลี้ยงชีพเป็นสุขในปัจจุบัน
(๕) ได้รับความไม่เดือดร้อนใจ เพราะมีศีลบริสุทธิ์
(๖) ได้รับความเงียบสงัดใจ ความแช่มชื่นเบิกบานใจ ความสุขสบายกายใจ เพราะใจสงบเป็นสมาธิ
(๗) ได้ฌานสมาบัติ
(๘) ได้ไตรวิชชา หรืออภิญญา สิ้นอาสวะในปัจจุบันชาตินี้
(๙) ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะเข้าถึงโลกที่มีสุขในเมื่อตายไป."

ในอรรถกถาธรรมบท ท่านเล่าถึงพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งเป็นคนยากจนค่นแค้น อยากบำเพ็ญทาน เพราะสำนึก
ได้ว่าที่ตนยากแค้นในปัจจุบันเพราะไม่ได้บำเพ็ญทานไว้ในชาติก่อน จึงตัดสินใจบริจาคผ้าสะไบผืนเดียว
ที่ตนกับภรรยาใช้ร่วมกันอยู่ออกบำเพ็ญทานถวายแด่พระบรมศาสดาซึ่งเป็นบุญเขตอันเลิศ ได้รับผลคอบแทนในปัจจุบัน คือพอแกบริจาคออกได้ แลรู้สึกโล่งใจและปีติเหลือประมาณ จึงเปล่งอุทานขึ้นในทันทีนั้นว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว บังเอิญพระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็เสด็จมาฟังธรรม ณ ที่นั้นด้วย เมื่อได้ทรงสดับ
จึงรับสั่งให้ถาม ทรงทราบแล้วทรงอนุโมทนาด้วย แล้วพระราชทานผ้าให้พราหมณ์ ๒ คู่ เพื่อเขาคู่หนึ่ง
เพื่อภรรยาคู่หนึ่ง เขายังมีศรัทธาน้อมเข้าไปถวายพระบรมศาสดาเสียอีก พระเจ้าปัสเสนทิโกศลจึง
พระราชทานเพิ่มให้ทวีขึ้น ในที่สุดทรงพระราชทานสิ่งละ ๑๖ แก่พราหมณ์ เขาได้รับความสุขเพราะกุศลกรรมของเขาในปัจจุบันทันตาดังนี้ แม้เรื่องอื่นๆ ทำนองนี้ก็มีนัยเช่นเดียวกัน


๑๐. อุปัชชเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่สามารถให้ผลต่อเมื่อเกิดใหม่ในชาติหน้า ในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง ถ้าเป็นกุศลกรรมก็อำนวยผลให้มีความสุข ตามสมควรแก่กรรมในคราวใดคราวหนึ่ง ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็ให้ผลเป็นทุกข์เดือดร้อนตามสมควรแก่กรรมในคราวใดคราวหนึ่ง ตัวอย่างสมมติว่า เมื่อชาติปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ ได้ทำกรรมไว้หลายอย่างทั้งบุญและบาป ตายแล้ว กลับมาเกิดเป็น
มนุษย์อีกด้วยอำนาจกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถแต่งกำเนิดได้ในชั่วชีวิตใหม่นี้ เราได้รับสุขสมบูรณ์เป็นครั้งคราว นั่นคือกุศลกรรมในประเภทนี้ให้ผล เราได้รับทุกข์เดือดร้อนเป็นบางครั้ง นั่นคืออกุศลกรรม
ในประเภทนี้ให้ผล การให้ตัวอย่างสมมติไว้ก็เพราะหาตัวอย่างที่เป็นจริงมาแสดงไม่ได้


๑๑. อปราปรเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลหลังจากอุปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลเรื่อยไป สบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่สามารถให้ผลสืบเนื่องไปหลายชาติ
ตัวอย่างข้อนี้มีมาก ฝ่ายกุศลกรรม เช่น พระบรมศาสดาทรงแสดงบุพกรรมของพระองค์ไว้ว่า ทรงบำเพ็ญเมตตา ภาวนาเป็นเวลา ๗ ปี ส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลกนานมาก แล้วมาเกิดเป็นพระอินทร์ ๓๗ ครั้ง เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๗ ครั้ง ฯลฯ ฝ่ายอกุศลกรรม เช่น พระมหาโมคคัลลานเถระในอดีตชาติ หลงเมีย ฟังคำยุยง ของเมียให้ฆ่ามารดาผู้พิการ ท่านทำไม่ลงเพียงแต่ทำให้มารดาลำบาก กรรมนั้นส่งผลให้ไปเกิดในนรกนาน ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ถูกเขาฆ่าตายมาตามลำดับทุกชาติ ถึง ๕๐๐ ชาติ กับทั้งชาติปัจจุบันที่ได้เป็นพระอรหันต์ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระบรมศาสดา.


๑๒. อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน

[จาก หนังสือทิพยอำนาจ - พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)] เป็นกรรมที่ไม่มีโอกาสจะให้ผล เพราะไม่มีช่องที่จะเข้าให้ผลได้ เลยหมดโอกาสสิ้นอำนาจ สลายไป ในฝ่ายอกุศลกรรม เช่น พระองคุลิมาลเถระ ได้หลงกลของอาจารย์ เพราะความโลภในมนตร์ ได้ฆ่าคนจำนวนถึงพัน เพื่อจะนำไปขึ้นครูเรียนมนตร์ พระทศพลทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง พระอรหัตตผลมีอยู่ ทรงเกรงว่าจะฆ่ามารดา แล้วจะทำลายอุปนิสัยแห่งอรหัตตผล จึงรีบเสด็จไปโปรด ทรงแสดงทูเรปาฏิหาริย์ (Blogger Ekk - อธิษฐานที่ใกล้เป็นที่ไกล สิ่งที่อยู่ใกล้ไปปรากฏอยู่ไกล) และตรัสพระวาจาเพียงว่า " หยุดแล้ว คือทรงหยุดทำบาปแล้ว ส่วนท่านซิยังไม่หยุดทำบาป " ท่านเกิดรู้สึกตัว เข้าเฝ้าขอบรรพชาอุปสมบท ทรงประทาน อุปสมบทแล้วพาไปฝึกฝนอบรม จนได้บรรลุพระอรหัตตผล สิ้นภพสิ้นชาติ กรรมบาปซึ่งมีอำนาจจะให้ผลไปในชาติหน้า หลายแสนกัป ก็เลยหมดโอกาส ให้ผลเพียงเล็กน้อยในชาตินี้ ส่วนฝ่ายกุศลกรรมไม่อาจหาตัวอย่างได้

****************************
link อ้างอิง

กรรมทีปนี
http://phrabuddhasasana.com/kamma/index.php?option=com_content&view=category&id=18&Itemid=52

กรรมทีปนี (กรรม ๑๒ ประเภท) โดยท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)
http://board.palungjit.com/f8/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%99%E0%B8%B5-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-12-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-173993.html


http://coffeehour10.blogspot.com/search/label/Coffee%20talk

ไม่มีความคิดเห็น: