คนที่จะคบหา (มิตรแท้ - มิตรเทียม)การคบเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าและความเสื่อมของชีวิตอย่างมาก จึงควรทราบหลักธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องมิตรที่เป็นข้อสำคัญๆไว้ จะแสดงเรื่องคนที่ควรคบกับคนที่ไม่ควรคบและหลักปฏิบัติต่อกันระหว่างมิตรสหายดังต่อไปนี้
ก.มิตรเทียม
พึงรู้จักมิตรเทียม หรือศัตรูในร่างของมิตร (มิตรปฏิรูปก์) 4 ประเภทดังนี้
1.คนปอกลอก ขนเอาของเพื่อนไปถ่ายเดียว มี 4ลักษณะ
1. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
2. ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
3. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
4. คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ประโยชน์
2. คนดีแต่พูด(วจีบรม) มีลักษณะ 4
1. ดีแต่ยกหมดของหมดแล้วมาปราศรัย
2. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
3.สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
4. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
3. คนหัวประจบ(อนุปิยภาณี) มีลักษณะ 4
1. จะทำชั่วก็เออออ
2. จะทำดีก็เออออ
3. ต่อหน้าสรรเสริญ
4. ลับหลังนินทา
4. คนชวนฉิบหาย(อปายสหาย) มีลักษณะ 4
1. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
2. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
3. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
4. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
ข. มิตรแท้
พึงรู้จักมิตรแท้ หรือมิตรด้วยใจจริง(สุหทมิตร) 4 ประเภทดังนี้
1. มิตรอุปการะ(อุปการก์) มีลักษณะ 4
1. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
2. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
3. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
4. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
2. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์(สมานสุขทุกข์) มีลักษณะ 4
1. บอกความลับแก่เพื่อน
2. รักษาความลับของเพื่อน
3. มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง
4. แม้ชีวิตก็สละให้ได้
3. มิตรแนะนำประโยชน์(อัตถักขายี) มีลักษณะ 4
1. จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
2. แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
4. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้
4. มิตรที่มีใจรัก(อนุกัมปี) มีลักษณะ 4
1. เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ๆ ด้วย)
2. เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุขๆ ด้วย)
3. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ไข
4. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน
ค. มิตรต่อมิตร
พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน ตามหลักปฏิบัติในฐานะที่เป็นเสมือนทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
- พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ดังนี้
1. เผื่อแผ่แบ่งปัน
2. พูดจามีน้ำใจ
3. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
4. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
5. ซื่อสัตย์จริงใจ
- มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
1. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรัษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
3. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
5. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
ที่มา จาก หนังสือธรรมนูญชิวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชิวิตที่ดีงาม
ของ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) - พระพรหมคุณาภรณ์
วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น