วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อาหารของอวิชชา

ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า: ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้
เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัย
แห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้
--------------------------------------------------------------------------------

๑) อาหารของอวิชชา

ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวดังนี้ว่า:- อวิชชาก็อีกนั่นแล มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย
จึงปรากฏ เรากล่าวว่า
๑. อวิชชามีอาหาร อาหารของอวิชชา คือ นิวรณ์ ๕
๒. นิวรณ์ ๕ มีอาหาร..........................….. คือ ทุจริต ๓
๓. ทุจริต ๓ มีอาหาร...........................….. คือ การไม่สำรวมอินทรีย์
๔. การไม่สำรวมอินทรีย์มีอาหาร.…....…. คือ ความขาดสติสัมปชัญญะ
๕. ความขาดสติสัมปชัญญะมีอาหาร.…. คือ ความขาดโยนิโสมนสิการ
๖. ความขาดโยนิโสมนสิการมีอาหาร..… คือ ความขาดศรัทธา
๗. ความขาดศรัทธามีอาหาร...............….. คือ การไม่ได้สดับสัทธรรม
๘. การไม่ได้สดับสัทธรรมมีอาหาร.......… คือ การไม่ได้เสวนาสัปบุรุษ

การไม่ได้เสวนาสัปบุรุษอย่างบริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ได้ฟัง
สัทธรรมให้บริบูรณ์
การไม่ได้ฟังสัทธรรมอย่างบริบูรณ์ ย่อมทำความไม่มีศรัทธา
ให้บริบูรณ์
ฯลฯ
นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์ ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์
อวิชชา มีอาหาร และมีความบริบูรณ์ อย่างนี้

๒) อาหารของวิชชาและวิมุตติ
๑. วิชชาและวิมุตติมีอาหาร อาหารของวิชชา-วิมุตติ คือ โพชฌงค์ ๗
๒. โพชฌงค์ ๗ มีอาหาร ......................…… คือ สติปัฏฐาน ๔
๓. สติปัฏฐาน ๔ มีอาหาร ..................…… คือ สุจริต ๓
๔. สุจริต ๓ มีอาหาร..............................…… คือ อินทรียสังวร
๕. อินทรียสังวรมีอาหาร..............……………. คือ สติสัมปชัญญะ
๖. สติสัมปชัญญะมีอาหาร.....................……. คือ โยนิโสมนสิการ
๗. โยนิโสมนสิการมีอาหาร....................….…. คือ ศรัทธา
๘. ศรัทธามีอาหาร.................................……… คือ การสดับ(เล่าเรียน)สัทธรรม
๙. การสดับสัทธรรมมีอาหาร ...............…… คือ การเสวนาสัปบุรุษ

การเสวนาสัปบุรุษอย่างบริบูรณ์ ย่อมยังการได้สดับ
สัทธรรมให้บริบูรณ์
การได้สดับ(เล่าเรียน)สัทธรรมบริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์
ฯลฯ
โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาวิมุตติให้บริบูรณ์
วิชชาวิมุตติ มีอาหารอย่างนี้ มีความบริบูรณ์ อย่างนี้

----------------------------
โยนิโสมนสิการ
โยนิโสมสิการ เป็นการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี ตามความหมายที่
กล่าวมาแล้ว
เมื่อเทียบในกระบวนการพัฒนาปัญญา โยนิโสมนสิการ อยู่ในระดับที่
เหนือศรัทธา เพราะเป็นขั้นที่เริ่มใช้ความคิดของตนเองเป็นอิสระ
ส่วนในระบบการศึกษาอบรม โยนิโสมนสิการเป็นการฝึกการใช้ความคิด
ให้รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่มองเห็นสิ่ง
ต่างๆ อย่างตื้นๆ ผิวเผิน เป็นขั้นสำคัญในการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นอิสระ
ทำให้ทุกคนช่วยตนเองได้ และนำไปสู่จุดหมายของพุทธธรรมอย่างแท้จริง
ความสำคัญ และคุณประโยชน์ ของโยนิโสมนสิการ พึงเห็นได้ตามตัว
อย่างพุทธพจน์ต่อไปนี้
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน
เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็น
บุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุ
ผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้
มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงเงินแสงทอง เป็น
บุพนิมิตมาก่อน ฉันใด โยนิโสมนสิการก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่ง
การเกิดขึ้นของโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโส
มนสิการ พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗
เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยัง
ไม่เกิด เกิดขึ้น หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนโยนิโส
มนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป
เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ...
ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม
เหมือนโยนิโสมนสิการเลย
โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์
ประกอบอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่
เหมือนโยนิโสมนสิการเลย
สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจาก
โยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่น แม้สัก
อย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโส-
มนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น
เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิ ที่
ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือให้สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญยิ่งขึ้น เหมือน
โยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อม
เกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้โพชฌงค์ที่ยังไม่
เกิด ได้เกิดขึ้น หรือให้โพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์
เหมือนโยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
ย่อมเกิดขึ้น และโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความเจริญเต็มบริบูรณ์
เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด
ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกกำจัดได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย
เมื่อโยนิโสมนสิการอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ราคะที่
เกิดแล้ว ก็ถูกละได้ เมื่อโยนิโสมนสิการเมตตาเจโตวิมุตติ โทสะที่ยังไม่
เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น โทสะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้ เมื่อโยนิโสมนสิการ (โดยทั่ว
ไป) โมหะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และโมหะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้


ที่มา: หนังสือ "พุทธธรรม" โดย พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
ปัจจุบัน คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง

" ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้ว มันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยรู้เคยทราบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย"

- หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
ที่มา : หนังสือ " หลวงปู่ฝากไว้" บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนาของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

เมื่อคิดครอบครอง

๗๙

เมื่อคิดครอบครอง
ความปลอดโปร่งเบาสบายก็หายไป
เมื่อคิดยึดมั่น
ความอิสระเสรีทางจิตก็หายไป
เมื่อคิดหวงแหน
ความใจกว้างใจใหญ่ก็หายไป
เมื่อคิดกักเก็บ
ความพลิกแพลงตามสถานการณ์ก็หายไป
เมื่อได้อย่าง ก็เสียไปอย่าง
เมื่อได้สิ่งที่สูงค่า หรือได้บุคคลที่หมายปอง
ก็สูญเสียเสรีภาพของหัวใจ
บัณฑิตยินยอมสละของรักของหวง
เพื่อแลกเอาอิสระเสรีของดวงใจ


ที่มา: หนังสือ " พุดตานกถา " โดยพระชุมพล พลปญฺโญ

เหตุที่แท้จริง

ผู้มีปัญญาจะพยายามรับว่าไม่มีใครอื่น ไม่ว่าจะพูดจะทำอย่างไร
แม้ที่เกี่ยวถึงเรา ที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจแก่เรา
ถ้าเราจะไม่คิดผิดเกี่ยวกับการพูดการทำของเขา
ความคิดผิดของเราเท่านั้นเป็นเหตุที่แท้จริง
ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่างๆ นานา

- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ผู้ให้

ผู้ให้ เมื่อมีของต้องการอยู่ ก็ควรให้เขาในเมื่อเขาอยากได้มิใช่หรือ

- หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ที่มา: หนังสือ "อัตตโนประวัติ พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)

ผู้มีปัญญา

ผู้มีปัญญา ยามพบปัญหา ย่อมคิดแก้ไข กลับร้ายกลายดี
มีแต่สุขใจ มิให้ร้ายใคร คิดแต่เกื้อกูล

- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)

เหตุที่แท้จริง

ผู้มีปัญญาจะพยายามรับว่าไม่มีใครอื่น ไม่ว่าจะพูดจะทำอย่างไร

แม้ที่เกี่ยวถึงเรา ที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจแก่เรา

ถ้าเราจะไม่คิดผิดเกี่ยวกับการพูดการทำของเขา

ความคิดผิดของเราเท่านั้นเป็นเหตุที่แท้จริง

ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่างๆ นานา


- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อานิสงส์การสร้างเจดีย์

อานิสงส์การสร้างเจดีย์
ที่มา: http://www.watpasiri.com/budhakaya_anisong.php

..... การสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรืออัฐิธาตุของบุคคลที่ควรบูชาได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิเป็นการสร้างมงคลให้กับตนเองอย่างสูงสุด เมื่อตายไปย่อมสูสุขคติโลกสวรรค์ย่อมได้ดวงตาเห็นธรรม และบรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย การมีส่วนร่วมสร้างพระเจดีย์จะมากหรือน้อย ถ้าทำด้วยความเลื่อมใสก็ย่อมได้รับอานิสงส์มากมายดังตัวอย่างจากพระไตรปิฎก สุตตันตปิฎกในมังคลัตถทีปนีว่าด้วยการบูชา ดังนี้..... "พระสุธาปิณฑิยเถระ พระเถระรูปนี้ในชาติก่อนมีใจเลื่อมใสได้ใส่ก้อนปูนขาวในระหว่างแผ่นอิฐ ซึ่งประชาชนกำลังก่ออิฐสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ด้วยอำนาจแห่งบุญนั้นได้บันดาลให้ท่านได้ไปเกิดในสวรรค์และโลกมนุษย์ถึง 94 กัปป์" ..... พระมหากัสสปเถระ ยังได้กล่าวถึงประวัติและผลบุญแห่งการสร้างพุทธเจดีย์ของท่านไว้ดังนี้ ในครั้งที่พระพุทธเจ้ามีนามว่าปทุมมุตตระ พระองค์ได้ปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้ชักชวนหมู่ญาติมิตรและประชาชนให้มาร่วมกันสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้ากันเถิด ทุกคนมีจิตเลื่อมใสปิติอิ่มเอมใจจึงได้ช่วยกันสร้างเจดีย์สูงค่าเสร็จลงด้วยความเรียบร้อย เจดีย์สูงร้อยศอก สร้างปราสาทห้าร้อยศอกสูงตระหง่านจรดท้องฟ้า ทุกคนมีจิตปิติเบิกบานในอานิสงส์ผลบุญที่ได้พากันทำไว้เมื่อท่านตายไปแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่บนยานทิพย์เทียวด้วยม้าสินธพพันตัววิมานของท่านสูงตระหง่านเจ็ดชั้น มีปราสาทหนึ่งพันองค์ ซึ่งสร้างด้วยทองคำศาลาหน้ามุขสร้างด้วยแก้วมณี ส่องแสงสว่างเจิดจ้าไปทั่วสารทิศ ทั้งยังมีอำนาจเหนือเทวดาทั้งปวง เมื่อลงมาเกิดในโลกมนุษย์ในกัปป์ที่หกหมื่นในภัทรกัปป์นี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ครอบครองอาณาเขตไปถึง 4 ทวีป มีแก้วแหวนเงินทองมากมาย ประชาชนมีความสุขสำราญเหมือนดั่งบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งท่านเป็นอย่างนี้ถึง 33 ครั้ง ทั้งหมดเกิดจากผลบุญที่ได้ทำไว้จากการสร้างเจดีย์ และชาติสุดท้ายได้มาเกิดในสกุลพราหมณ์ที่ร่ำรวย แต่สละทรัพย์ออกบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ผู้เลิศด้วยปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 การสร้างเจดีย์มีอานิสงส์มากมายเกินกว่าจะพรรณนา การได้มาซึ่งโอกาสพิเศษที่จะสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น นับเรื่องที่กระทำได้ยากยิ่ง…….